ปิดประตูนรก
บทความตอนนี้จะยาวเป็นพิเศษ สรุปความรู้ที่อ่านมาตั้งแต่บทที่ ๑ ถึงบทที่ ๑๕ ว่าท่านได้รู้อะไรบ้างรู้จริงหรือไม่ เพราะความรู้ทั้งหมดจะนำมาปฏิบัติจริงในบทที่ ๑๖นี้ การปฏิบัติเพื่อการปิดประนรก ผมจะให้ความสำคัญกับการนั่งมากกว่าการเดินจงกรม เพราะการเดินจงกรมก็เพื่อผ่อนคลายอิริยาบถ เพื่อให้จิตลดความฟุ้งซ่านได้เร็ว ทำให้เข้าถึงสมาธิได้ดี
ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงแสดงอุบายแก้ง่วงแก่พระโมคคัลลานะ ดังนี้
๑. เมื่อมีสัญญาอย่างใดแล้ว จงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก
๒. พิจารณาธรรมที่ได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้ว
๓. สาธยายธรรมที่ได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้ว
๔. แยงช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัว
๕. ลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาว
๖. ทำในใจถึงอาโลกสัญญา ตั้งความสำคัญว่ากลางวันหรือกลางคืนย่อมมีแสงสว่างเหมือนกัน
๗. อธิษฐานการเดินจงกรมสำรวมอินทรีย์ ไม่คิดไปภายนอก
๘. สำเร็จสืบไสยา ซ้อนเท้าเหลี่ยมเท้า มีสติสัมปชัญญะในการนอน การหลับ และการตื่น
มีการสอนการเดินจงกรมให้ได้ ๖ จังหวะ ก็เช่นเดียวกันจิตของเรายังไม่ละเอียดพอที่จะทำอย่างนั้นได้ จึงกลายเป็นการฝืนธรรมชาติ ค่อยๆก้าวย่างเดิน ในพระไตรปิฎกกล่าวว่าพระสารีบุตรเดินหนึ่งก้าวแต่จิตไปหกขณะจิต เราจะทำอย่างท่านได้อย่างไร เพราะท่านเป็นอัครสาวกผู้เลิศในทางปัญญา และดูจะเหมือนว่าไม่ได้มีการกล่าวถึงพระสาวกรูปอื่นที่เดินหนึ่งก้าวหกขณะจิต
ตอนต้นก็กล่าวถึงม.ปลาย ไม่สามารถเรียนต่อปริญญาโทได้ ครั้งนี้ม.ปลายสายศิลป์ก็ไม่สามารถเรียนต่อปริญญาตรีสายวิทย์ได้เช่นเดียวกัน
จงพิจารณาปัญญาของตัวเองว่าเรียนรู้ทางไหนจึงเหมาะสม
หากจะปฏิบัติตามพระสารีบุตร ก็ขอให้ได้ขั้นต้นเสียก่อนเถิด ยังไม่ต้องหวังไปไกลให้ถึงอรหันต์หรอก เพราะผู้ปฏิบัติกันจริงๆจังๆ ยังมีผู้สำเร็จเพียงไม่กี่ท่านเอง ความจริงที่ปฏิบัติกันนั้นก็ถูกต้องตามตำรากันทั้งนั้นน่าจะมีพระอรหันต์เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น ก็อย่างที่ยกเหตุผลมากล่าวไว้แล้ว ขอให้ผู้ปฏิบัติ ได้พิจารณากันให้มากยิ่งขึ้น
ครั้งนี้จะปฏิบัติตามพระสารีบุตรละ ท่านสำเร็จโสดาบันอย่างไร
พระสารีบุตรได้ฟังธรรมกับพระอัสสชิได้ดวงตาเห็นธรรมว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา”
หมายถึง เมื่อมีการเกิดก็มีการดับ การเกิดดับนั้นไม่เที่ยง ทุกสิ่งอย่างล้วนไม่เที่ยงมีการเกิดดับตลอดเวลา เพราะเราไปยึดความไม่เที่ยงให้เป็นของเที่ยง เราจึงทุกข์กับสิ่งที่เราคิดว่าเที่ยง การเกิดดับนั้นไม่เที่ยงเราบังคับไม่ได้ ที่บังคับไม่ได้เพราะไม่มีตัวตน พิจารณากลับไปกลับมาให้มากๆก็สามารถบรรลุธรรมได้เช่นกัน
ในตอนท้ายมีวิธีพิจารณาธรรมอย่างที่พระอาจารย์ได้อบรมผมมา เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ลองนำไปปฏิบัติดู
จิตไม่แก่
เมื่อเริ่มนั่งขัดสมาธิแล้วไปสักพักหนึ่ง จิตพอจะมีสมาธิไม่วอกแวก ต่อไปให้พิจารณาลมที่เข้าออกเป็นของไม่เที่ยงเกิดดับอยู่ตลอดเวลา หายใจเข้า ลมหายใจเข้าเกิดแล้ว หายใจออก ลมหายใจเข้าดับแล้วและลมหายใจออกก็เกิด มันเกิดดับอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา เมื่อเกิดแล้วก็ดับ จะเกิดดับพร้อมกันไม่ได้ เมื่อมีความสว่างจะไม่มีมืด เมื่อมีมืดจะไม่มีสว่าง ไฟฟ้าที่เราเห็นสว่างอยู่ก็ไม่ได้สว่างตลอดเวลา เพราะมันเปิดปิดเร็วมากตามความถี่ที่กำหนดไว้ จนสายตาของเราเห็นไม่ทัน
เมื่อหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกจะเป็นอย่างไร อึดอัดทนอยู่ไม่ได้ต้องหายใจออก จะหายใจออกอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องหายใจเข้าอีก มันไม่เที่ยงมันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ร่างกายนี้ก็ไม่เที่ยง ร่างที่เคยเป็นเด็กทารกก็ตายไปแล้ว ร่างที่เคยเป็นวัยรุ่นก็ตายไปแล้ว ร่างที่เป็นวัยผู้ใหญ่ก็กำลังตายไปเรื่อยๆ จะเป็นร่างคนแก่ต่อไป พิจารณากลับไปกลับมาให้เกิดขึ้นในจิตจริงๆ ไม่ใช่ดูตามตัวอักษรพิจารณาไปเออออไปก็ไม่ได้ผล
เมื่อจิตสงบดีแล้ว ก็ให้พิจารณาที่จิตนี้อีกว่ามีความรู้สึกอย่างไร แต่แท้จริงจิตนั้นไม่ได้มีความรู้สึก จิตเพียงรู้อารมณ์ แต่มีเวทนาเจตสิกร่วมด้วย จึงมีความรู้สึกตามสภาพธรรมที่เกิด นั้นเป็นเรื่องของพระอภิธรรมที่บัญญัติเอาไว้
แต่ในที่นี้กล่าวถึงจิตรู้สึกได้ ละในฐานที่เข้าใจว่ามีเจตสิกร่วมด้วย เพราะเมื่อบรรลุธรรมแล้วจิตและเจตสิกก็จะดับไปตามขั้นภูมิธรรมที่สำเร็จอริยมรรค
ให้รู้ความจริงว่า จิตของเรานั้นไม่แก่ จิตไม่มีเพศ ที่เรามาได้ร่างผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม เป็นเพราะวิบากกรรมส่งผลให้เราได้ร่างนั้นมา แม้แต่ร่างเทพบุตร เทพธิดา หรือแม้แต่สัตว์เดรัจฉาน ก็เกิดจากจิตตัวเดียวเท่านั้น เมื่อเข้าใจจริงๆแล้วจะทำให้ละตัวตนลงได้มาก ที่เขารวยกว่าเพราะเขาทำบุญมามาก ที่เขาจนกว่าเพราะ เขาไม่เคยทำทาน ที่เป็นสัตว์เดรัจฉานเพราะเขาเป็นมิจฉาทิฐิ ผิดศีลกาเมและศีลข้ออื่นๆตามแรงกรรม
จิตของเราไม่มีตัวผู้ไม่มีตัวเมียแล้วแต่สภาพกรรม นางรุจา เคยเกิดเป็นผู้ชายก็มี เคยเกิดเป็นผู้หญิงก็มี สัตว์เดรัจฉานก็เคยเป็น เราเองก็เคยเกิดเคยเป็นมาแล้วทุกอย่างด้วยวิบากกรรมที่แตกต่างกัน เมื่อก่อนจิตของเราเป็นอย่างไรปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีความรู้สึกว่าแก่ ไม่รู้สึกว่าอ่อนเพลียหมดกำลัง แม้ร่างกายจะแก่ไปตามวัยเป็นไปโดยธรรมชาติ แต่จิตของเราก็ยังมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนเดิม บางครั้งร่างกายเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลแต่จิตก็ไม่ป่วยไม่ไข้ จิตยังคิดพิจารณาอะไรต่อมิอะไรได้ทั้งนั้น ผู้ที่เคยเจ็บป่วยอย่างหนักร่างกายขยับไม่ไหวแต่จิตก็ยังคิดโน้นคิดนี่ได้สารพัด พยายามคิดทบทวนให้มากๆ ให้จิตยอมรับความจริงนี้
เราเกิดมาเป็นอเนกชาตินับไม่ถ้วน เคยเป็นมาแล้วทุกอย่าง จะไปหลงอยู่กับความไม่เที่ยงทำไม สังสารวัฏนี้หาที่สุดไม่ได้ เมื่อมีโอกาสที่จะตัดภพชาติให้น้อยลงเหลือสัก ๗ ชาติก็ยังดี และไม่ต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย ไม่ต้องไปทนทุกข์ทรมานจากการพลัดพรากสิ่งที่รักสิ่งที่พอใจ ทุกข์กับสิ่งที่ไม่ได้สมความปรารถนา ทุกข์ในทุกๆเรื่อง
เมื่อจิตของเรายังไม่หลุดพ้น เวลาตายจากร่างนี้ก็ไปได้ร่างใหม่ทันทีเปลี่ยนสภาวธรรมจากคนเป็นเทวดาหรือสัตว์เดรัจฉาน คนเราเมื่อเกิดเป็นเทวดาและเสวยบุญจนหมดแล้วก็ต้องไปรับกรรมในนรกต่อไปจนกว่ากรรมนั้นจะหมด เมื่อใช้บุญและกรรมหมดแล้วไม่มีที่ไปก็จะมาเกิดเป็นมนุษย์ แต่ ถ้ายังมีเศษกรรมใหญ่อยู่ก็จะไปเป็น เปรต อสูรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน เพราะนรกเราไปรับกรรมมาแล้ว ฉะนั้นบางทีก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก่อนแล้วจึงมาเกิดเป็นมนุษย์ทีหลัง พอเกิดเป็นมนุษย์ก็ยังมีเศษของวิบากกรรมอีกเช่น เกิดมาไม่ครบอาการ ๓๒ เกิดมาแล้วประสบอุบัติเหตุสูญเสียอวัยวะ บ้านไฟไหม้ โจรปล้น ถูกข่มขืน คู่ครองมีชู้นอกใจ ถูกใส่ร้ายต้องติดคุก สับสนทางเพศ ฯลฯ
พระติสสะมีความหวงผ้าจีวรของตน เมื่อละสังขารแล้วไปเกิดเป็นตัวเล็นอาศัยอยู่ที่ผ้าจีวรที่ตนหวงแหนนั้น ภิกษุทั้งหลายจะมาแบ่งจีวรนั้นไปใช้ พระพุทธเจ้าทรงห้ามเอาไว้ และตรัสกับภิกษุเหล่านั้นให้ครบ ๗ วันก่อน ค่อยนำผ้าผืนนั้นไปใช้ได้ หากนำผ้าผืนนั้นไปใช้ในเวลานี้ พระติสสะที่เคยเป็นเจ้าของผ้าผืนนั้น ในเวลานี้เป็นเล็นอาศัยอยู่ที่ผ้านั้นจะเกิดความโกรธ เมื่อตายจากเป็นเล็นแล้วก็จะต้องไปตกนรกด้วยความโกรธ
เมื่อครบ ๗ วันแล้ว อันเป็นอายุขัยของเล็น เล็นตัวนั้นก็ตายไปและไปเกิดบนสวรรค์ จากนั้นจึงนำผ้าผืนนั้นมาใช้ได้
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จะทำให้มั่นคงในศีลปานาติบาตรยิ่งขึ้น เพราะสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายเราก็เคยเป็นมาแล้ว แต่ในเวลานี้วิบากกรรมดีของเราส่งผลให้เกิดเป็นคน ส่วนสัตว์เดรัจฉานนั้นวิบากกรรมเลวได้ส่งผลให้เป็นไป ซึ่งจริงๆแล้วเขาก็ไม่อยากเป็นสัตว์เดรัจฉานนั้น แต่ด้วยความหลงผิด จึงได้สร้างกรรมเลวนั้นๆเอาไว้ เราก็ไม่ควรไปเบียดเบียนหรือแม้แต่จะไปฆ่าเขาด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม เพราะเขาเองก็รับสภาพกรรมที่เป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่แล้ว
พ่อแม่ญาติพี่น้องก่อนจะตาย ถ้ายังมีความกังวลห่วงใยในสิ่งต่างๆอยู่ ตายไปก็จะไปเป็นสัตว์เดรัจฉานเฝ้าบ้านอยู่ ลูกๆไม่รู้ก็กลัวเอาไม้ไล่ตีบ้าง บางครั้งก็ทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิตก็มี สัตว์เดรัจฉานที่ว่าอาจจะเป็น จิ้งจก ตุ๊กแก งู ตะขาบ สุนัขหรือสัตว์ใดๆก็ได้
พระปุถุชนอย่างพระติสสะก็ยังไปเกิดเป็นเล็น เศรษฐีตายแล้วไปเกิดเป็นสุนัขก็มี และเพื่อทำให้ชาวบ้านมีความศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ายิ่งขึ้น พระพุทธองค์ออกบิณฑบาตยังตรัสกับพระอานนท์ เพื่อให้ลูกชายเศรษฐีได้ยินแล้วมีการพิสูจน์ความจริง โดยให้สุนัขที่เคยเป็นเศรษฐีนั้นไปชี้ขุมทรัพย์ที่ตัวเองได้ฝังเอาไว้ก่อนตายทั้งสี่แห่งได้อย่างถูกต้อง
พระพุทธเจ้าจึงสอนไม่ให้อยู่ในความประมาท ท่านเศรษฐีแม้จะเคยสร้างบุญเอาไว้ แต่ก่อนตายยังไม่ได้บอกที่ซ่อนขุมทรัพย์กับลูกชาย จึงทำให้จิตมีห่วงผูกพันไปไหนไม่ได้ จึงไปเกิดเป็นสุนัข
คนทั้งหลายได้เสวยบุญและใช้กรรมจนหมดแล้วก็มาเกิดเป็นคนอีก คราวนี้ถ้ามีเศษบุญหลงเหลืออยู่ก็จะไปเกิดในบ้านของคนที่มีฐานะดี ถ้ามีเศษบาปมากกว่าก็จะไปเกิดในตระกูลต่ำ เป็นขอทาน กรรมกร หรือทั้งเศษบุญเศษบาปคละกัน ต้นร้ายปลายดี ต้นดีปลายร้าย อะไรต่างๆก็อยู่ด้วยบุญและบาปทั้งนั้น
เพราะคนเราเกิดมามีกรรมเป็นของตัวเอง มีกรรมเป็นตัวกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวให้ประณีตได้
พระพุทธเจ้าทรงระลึกชาติย้อนหลังอันหาที่สุดไม่ได้ ( การระลึกชาติของพระพุทธเจ้าไวกว่าคอมพิวเตอร์มากนัก ) ในช่วงปฐมยามพระพุทธเจ้าทรงรู้ว่า การเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด การที่จะไปรู้ต้นกำเนิดของชีวิตที่แท้จริงเป็นอย่างไร ใครเป็นแม่คนแรกของโลก รู้แล้วก็ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้ เสียเวลาเปล่า การที่บุคคลจะไปรู้อดีตชาติ ไปรู้กรรมวิบากของตน ว่าทำไม ปัจจุบันจึงเป็นเช่นนี้ ชาตินี้ลำบากเหลือเกิน ชาติก่อนไปทำกรรมอะไรไว้ บุคคลไม่ควรไปคิดเรื่องนี้ เพราะกรรมวิบากเป็นอจินไตย เมื่อคนเราเกิดมานับชาติไม่ถ้วนอยู่แล้ว แสดงว่าเราเคยเป็นมาแล้วทุอย่าง ไม่ต้องไปสงสัยอะไร เสียเวลาเปล่าประโยชน์ ให้มาดูปัจจุบันนี้ดีกว่า[ อจินไตย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการ คือ (๑) พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย (๒) ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน (๓) วิบากแห่งกรรม (๔) ความคิดเรื่องโลก เหล่านี้ไม่ควรคิด เมื่อคิดบุคคลพึงมีส่วนแห่งความบ้าและเดือดร้อน ( อจินติตสูตร ๓-๒๙๘ ) ]
เมื่อเป็นคนจิตของเรามายึดเอาร่างกายนี้ไว้ ตอนตายจิตก็ไปได้ร่างใหม่ทันที การดีดนิ้วยังช้ากว่า จิตที่เกิดดับแล้วไปได้ร่างใหม่ แล้วแต่วิบากกรรมนำไป ถ้าเป็นโอปาปติกะอย่าง เทวดา สัตว์นรก เปรต อสูรกาย อย่างนี้เกิดขึ้นทันที บางพวกไปเกิดในไข่ บางพวกเกิดในครรภ์ บางพวกเป็นหนอน ( เกิดในที่ชื้น )
สังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ คนเราก็ไม่ควรประมาท เกิดตายนับชาติไม่ถ้วน ขณะที่นั่งอยู่นั้นเกิดความปวดทรมานขึ้นมา ให้นึกถึงกรรมที่ต้องชดใช้ในนรกมันยิ่งทรมานแสนสาหัสกว่ามากนัก เราจะไม่หนีความเจ็บปวดที่ทำให้เกิดทุกข์ไปในอิริยาบถอื่น เพราะเราหนีความจริงคือทุกข์นี้ เราหนีมันมาตลอดทุกภพชาติ จนไม่สามารถชนะมันได้ ให้มันรู้กันไปเลยว่านั่งหนึ่งชั่วโมงนี้จะทนได้แค่ไหน ขยับตัวได้บ้าง แต่อย่าขยับขาที่กำลังปวดทรมานอยู่ เพราะเราต้องเอาชนะมันให้ได้ ยิ่งพิจารณาก็ยิ่งปวด แต่ปวดนั้นก็ไม่เที่ยง เมื่อนั่งใหม่ๆยังไม่ปวด ทำไมมาปวดตอนนี้ อ้อมันเกิดดับไม่เที่ยง ให้พิจารณาให้มาก ให้เกิดความละอายและเกรงกลัวต่อบาปขึ้นมาให้ได้จริงๆ ที่เกิดขึ้นในจิต ให้มีความสำนึกที่ดี ขนาดยังไม่ได้ตกนรกในเวลานี้ แต่มันก็ปวดทรมานเหลือเกิน ปวดนั้นไม่เที่ยงเดี๋ยวก็หายไปแล้วก็จะปวดขึ้นมาใหม่ เกิดดับอย่างนี้ตลอดเวลา เราจะไม่ทำผิดศีลต้องให้ตกนรกเด็ดขาด แค่นี้ก็ทรมานเหลือเกิน ถ้าตกนรกจริงๆจะรู้สึกอย่างไร มันช่างน่ากลัวจริงๆ พิจารณาไปให้จิตเกิดความเกรงกลัวต่อบาปจริงๆ หนึ่งวันของนรกบางขุมมีอายุมากกว่าพันล้านปีของมนุษย์
เพราะความเกรงกลัวต่อบาปนั้นคือ หิริ ซึ่งหิรินั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องอบรมเจริญปัญญาเสียก่อน รู้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเข้าไปในจิต อย่างที่แนะนำไว้
ขณะเดียวกันก็ให้รู้ว่าจิตของเรานั้นไม่เจ็บปวดทรมานใดๆเลย มีแต่ร่างกายเท่านั้นที่เจ็บปวด และไม่แสดงอาการเจ็บปวดให้เห็น เพราะร่างกายไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงจิตของเรามาอาศัยอยู่ชั่วคราว ถึงเวลาร่างกายนี้ก็ไม่ให้เราอยู่แล้ว เราอยากจะอยู่ต่อก็ไม่ได้ เมื่อจิตละร่างกายนี้ไปแล้วจะกลับเข้ามายึดอีกก็ไม่ได้ จิตเราต้องไปได้ร่างใหม่ตามบุญบาปที่ทำไป สังสารวัฏนี้ไม่เที่ยงจริงๆ หาที่สุดไม่ได้ มีแต่จิตตัวเดียวที่จะหลุดพ้นได้
พยายามพิจารณากลับไปกลับมาให้มากๆ เพราะการทำซ้ำๆ จะให้เกิดความชำนาญขึ้นมา บางวันนั่งไปห้านาทีก็เริ่มปวดแล้ว บางวันนั่งเป็นชั่วโมงยังไม่ปวดเลยก็มี แต่จะให้ผลไวขึ้นก็ให้ปรับฐานคือการนั่งให้อยู่ในท่าที่จะเพิ่มความปวดให้เร็วขึ้น สำหรับผู้ที่เคยนั่งปฏิบัติมานานจนเคยชินแล้วก็จะไม่เห็นความเจ็บปวด แต่ผู้ที่นั่งปฏิบัติใหม่ๆก็ไม่จำเป็นต้องปรับ การนั่ง ๑-๒ ชั่วโมง ไม่ได้เป็นการทรมานร่างกายจนเกินไป
ขณะความปวดเกิดขึ้นนั้นให้พิจารณาถึงความไม่เที่ยง มันเกิดดับตลอดเวลา เดี๋ยวปวด เดี๋ยวหาย ที่ว่าปวดนั้นก็คือตัวทุกข์นั่นเอง ทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มันไม่เที่ยง และปวดมากๆลองเกร็งขาให้เพิ่มความปวดไปอีก ที่สุดของความปวดมันมีแค่ไหน บางครั้งยังต้องใช้มือช่วยกดไปที่ขาอีก มันเจ็บมันปวดจริงๆ มันจะตายมั้ย มันไม่ตายหรอก แล้วก็ปล่อยมันไป มันไม่เที่ยง ทำซ้ำๆให้รู้รสชาติของความเจ็บปวดทรมาน ว่ามันเที่ยงหรือไม่เที่ยงกันแน่
บางครั้งนั่งต่อไปถึงชั่วโมงที่สองก็ยังเจ็บปวดอยู่ บางครั้งความเจ็บปวดก็จะหายไป อย่างที่เรียกกันว่า มันอันตรธานหายไปเลย เหมือนมันมีตัววิ่งปราดหายไปจนไม่หลงเหลือความเจ็บปวดอยู่เลยสักนิด เหมือนเพิ่งนั่งใหม่ๆยังไงยังนั้น ของอย่างนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก บางคนนั่งเป็นปีๆก็ยังไม่เกิดเลย
เมื่อเห็นว่าความปวดนั้นไม่เที่ยง ก็ความปวดนั้นแหละเป็นตัวทุกข์ ทุกข์นั้นก็ไม่เที่ยง ทำไมไม่เที่ยง ไม่เที่ยงเพราะเราบังคับไม่ได้ เราจะบังคับให้ความปวดหายไปก็ไม่ได้ จะบังคับให้รูปร่างหน้าตาดูเป็นหนุ่มสาวตลอดไปก็ไม่ได้ เพราะมันไม่มีตัวตน เรามายึดมันเอาไว้ต่างหาก
เมื่อความเจ็บปวดเกิดขึ้นบางสำนักให้ตัดออก โดยไม่ใส่ใจให้วางเฉยเสีย ไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวดนั้น ปล่อยมันไปไม่ต้องยึดมัน นั้นเป็นกรรมฐานมิใช่วิปัสสนา เหมือนกับว่าเวลามีอะไรมากระทบก็ให้วางเฉย คล้ายกับการพิจารนาถึงความว่าง ว่าเมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็เป็นความว่างทั้งหมด ถ้าเราไปยึดมันก็จะไม่ว่าง แต่ทั้งสองอย่างเป็นการบังคับ ไม่ให้สนใจวางเฉย หรือให้มันว่าง แต่ที่จริงมันไม่ได้เกิดขึ้นจากการเข้าถึงธรรมจริงๆ
เมื่อเราเข้าถึงธรรมจริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนเป็นธรรมเป็นธรรมชาติ วิฑูฑภะยกทัพไปจะฆ่าญาติของพระพุทธเจ้า ด้วยความโกรธที่ถูกดูถูกว่าเป็นลูกของคนใช้ พระพุทธเจ้าไปห้ามทัพถึง ๓ ครั้ง ที่สุดพระพุทธองค์ก็ต้องวางเฉย เพราะพระองค์พิจารณาแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามวิบากกรรมของทั้งสองฝ่าย อย่างนี้จึงจะเป็นการวางเฉย เพราะสภาพธรรมที่เกิดเป็นวิบากแห่งกรรมหรือเป็นธรรมชาติของกรรมที่ปุถุชนทั้งหลายไม่ค่อยจะเข้าใจ ให้อำนาจความโกรธเข้าครอบงำจิตใจ สร้างกรรมก่อเวรไม่มีที่สิ้นสุดจนหาพบชาติไม่ได้
การที่จะสร้างเวรก่อกรรมอะไรขึ้นมา ให้นึกถึงกรรมที่จะต้องตกนรก ความเจ็บปวดขณะนั่งปฏิบัติธรรมว่าเจ็บปวดมากแล้วก็ยังเทียบกับกรรมที่ต้องชดใช้ในนรกต่างกันลิบลับ ทำให้รู้สึกสลดหดหู่เกรงกลัวต่อการจะทำบาป ถ้าพิจารณาได้อย่างนี้ก็จะทำให้เราไม่กล้าทำบาปแม้เล็กน้อยแต่ให้ผลมาก เช่นเดียวกับการทำทานแม้น้อยนิดก็ส่งผลมากเหมือนกัน
ความที่เราเกิดมานับชาติไม่ถ้วนแล้วเรายังอยากจะเกิดอีกหรือ ให้ความเข้าใจนี้อยู่ในจิต เพราะเมื่อเราจะทำอะไรผิดๆลงไปจะทำให้เรากลัวว่าจะมาเกิดมารับใช้กรรมอีกไม่หมดสิ้นสักที
ขณะที่นั่งพิจารณาอยู่อาจจะมีน้ำตาไหล เมื่อมันไหลมาแล้วก็ไม่ต้องไปเช็ดมัน เพราะถ้าเราขยับก็เท่ากับเราแพ้มันอีกแล้ว ถ้าเราถูกทรมานอยู่ในนรกได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัส เพราะไปสร้างกรรมเลวเอาไว้ เพราะเราไปยึดติดสิ่งที่ไม่ใช่ของเราว่าเป็นของเรา น้ำตาของเรามากกว่าน้ำในมหาสมุทร เพราะความพลัดพรากจากสิ่งที่รักสิ่งที่พอใจ สิ่งที่ไม่สมความปรารถนา อย่ากระนั้นเลย... ชาตินี้เราต้องชนะมันน้ำตาของเราจะไม่มีวันไหลอีก เราจะไม่ทุกข์ไม่เศร้ากับสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวตน
แม้น้ำตาที่ไหลออกมาจะทำให้รู้สึกคันจนอยากจะเกาจะเช็ดมันให้ได้ เราก็ต้องอดทนต่อสู้กับมัน เพราะมันไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็ดับไปเอง น้ำเกลือที่เขาราดใส่บาดแผลเพื่อทรมานเรา มันเจ็บปวดยิ่งกว่าน้ำตาที่ทำให้เราคันขณะที่เรากำลังพิจารณาธรรมอยู่ต่างกันมาก
บางทีจะมีเสียงดังเข้ามารบกวนขณะนั่งพิจารณาก็ว่าไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็ดับไป ถ้าเราไม่พอใจกับเสียงรบกวนนั้นแสดงว่าเรากำลังโกรธ โกรธนั้นทำให้ตกนรกได้นะ นึกถึงพระติสสะที่เกิดเป็นเล็น ถ้าตายด้วยความโกรธก็จะต้องตกนรก ซึ่งจริงๆก็ไม่ต้องนึกเป็นขั้นเป็นตอนมากมายเพราะเรารู้อยู่แล้ว เพียงแต่นึกถึงแวบเดียวเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปรวดเร็วอย่างเป็นธรรมชาติ
เช่นเดียวกับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นให้ตัดไปด้วยความไม่เที่ยง จากการพิจารณาความเจ็บปวดจนเห็นจริงแล้ว ไม่ต้องไปพิจารณาว่าสิ่งที่เกิดเป็นรูปหรือเป็นนาม ไม่ต้องไปแยกแยะ เพราะเรารู้ถึงความเกิดดับว่ามันไม่เที่ยง เมื่อมีเหตุปัจจัยอะไรเกิดขึ้นมันก็ไม่เที่ยงแล้วจะช่วยการพิจารณาให้เร็วขึ้น
คราวนี้ก็จะได้ครบทั้งสามตัว คือ ทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ในสามตัวนี้ตัวใดตัวหนึ่งจะเกิดขึ้นก่อนก็ได้ เมื่อตัวที่หนึ่งนั้นเกิดแล้ว ตัวที่สองและสามก็จะเกิดขึ้นตามความเป็นจริงที่เราพิจารณาไป ต้องพิจารณาให้เกิดขึ้นกับจิตจริงๆ ไม่ใช่นึกเอาตามตัวอักษร ต้องทำซ้ำๆซากๆให้ซึมเข้าไปในจิตให้ได้
คนส่วนใหญ่พิจารณาไม่ถูกหลัก นึกคิดเอาตามที่ได้อบรมมา จากผู้ที่ยังไม่สำเร็จ เมื่อผู้สอนยังไม่สำเร็จก็มีแต่จำตำรามาสอน จึงทำให้สำเร็จได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าผู้ปฏิบัติตามจะสำเร็จก่อนผู้สอนไม่ได้
ฉะนั้นการที่จะละตัวตนให้ได้จริงๆ ต้องพิจารณาความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ โดยหลักที่ผมได้บอกไป พิจารณาถึงความทุกข์นั้นไม่เที่ยง จากการปฏิบัติให้รู้จริง พิจารณาซ้ำๆ ทำให้มาก จนจิตยอมรับจริงๆว่าทุกข์นั้นไม่เที่ยง เมื่อทุกข์ไม่เที่ยงและไม่เที่ยงเพราะอะไร พิจารณาต่อเนื่องจนได้ อนัตตาบังคับไม่ได้ ก็จะครบทุกข์ขัง อนิจจัง อนัตตา เมื่อได้ครบสามตัวนี้แล้ว ก็พิจารณาต่อถึงร่างกายไม่เที่ยงเป็นทุกข์บังคับไม่ได้ เมื่อนั้นก็สามารถละตัวตนได้
เมื่อพิจารณาจนเข้าไปในจิตได้แล้ว ธรรมะที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ จะทำให้ละความลังเลสงสัยในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าลงได้ การใดๆที่ไม่เป็นไปในทางพระรัตนตรัยแล้ว จะไม่ยึดปฏิบัติให้เป็นธรรมเนียมประเพณี จะได้ดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา ธาตุ๔ ขันธ์๕ สติปัฏฐาน๔ จะเข้าใจได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ยังไม่ถึงขั้นละเอียด
การที่จะให้บรรลุธรรมในเบื้องต้นนี้ ไม่ใช่ของง่ายเลย ต้องอาศัยความเพียร ทำให้มาก บางคนจะสงสัยว่า การปฏิบัติมีเท่านี้เองหรือ ความจริงแล้ว หลักสำคัญก็มีอยู่เท่านี้ ก็เพียงพอที่จะให้ปิดประตูนรกลงได้
เพราะได้ตรงนี้แล้ว จะเข้าใจหลักธรรมเบื้องต้นได้อย่างแจ่มแจ้ง และละกิเลสอย่างหยาบได้หมด ของอย่างนี้มันเป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตัว แต่ถ้ายังไม่ลงมือปฏิบัติก็จะไม่มีทางรู้ได้เลย
ปกติจิตของเราไม่ค่อยว่างไม่อยู่นิ่ง การที่จะให้นั่งสมาธิให้จิตนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียวนั้น บางครั้งทำได้ยาก ต้องอาศัยการฝึกฝนเป็นอย่างมาก ในเมื่อจิตของเราไม่นิ่งชอบคิดโน้นคิดนี่อยู่แล้ว ก็ให้มันคิดไปเลย แต่ให้คิดอยู่ในขอบเขต โดยเฉพาะให้ฟังธรรมกับผู้แสดงธรรม ให้จิตไปจับคำที่ผู้แสดงธรรมได้บรรยายให้ฟัง เมื่อจิตไปจับคำพูดนั้นและพิจารณาธรรมนั้นๆตามผู้บรรยาย เมื่อพิจารณาหนักเข้า จิตก็เกิดสมาธิขึ้นมาได้ เมื่อสมาธิเกิดและจิตตั้งมั่นในธรรมนั้นๆ ผู้ปฏิบัติก็สามารถบรรลุธรรมได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้บรรยายก็ต้องเข้าใจหลักธรรม โดยเฉพาะต้องบรรลุธรรมนั้นๆแล้ว จึงจะให้ผลเร็วขึ้น
เมื่อนั่งปฏิบัติและพิจารณาธรรมนั้นๆแล้ว ภายหลังสมาธิเกิดขึ้นได้อย่างไร ย่อมเกิดขึ้นได้แน่นอน เปรียบเหมือนคนทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง มีจิตจดจ่ออยู่กับงานนั้น จนเกิดมีสมาธิกับงานนั้น แม้การอ่านหนังสืออย่างใจจดใจจ่อ เมื่อมีใครเรียกก็ไม่ได้ยิน แสดงว่าเวลานั้นจิตของเราอยู่กับการงานหรือการอ่านหนังสือนั้น
ขณะที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมอยู่นั้น มีผู้ส่งจิตไปกับพระกระแสธรรมของพระพุทธเจ้า ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันก็มีมาก ย่อมแสดงให้เห็นว่า ขณะที่ฟังธรรมอยู่นั้นจิตค่อยๆละเอียดขึ้นจากการฟังธรรมแล้วพิจารณาตามเหตุและปัจจัยจิตใคร่อยากรู้จิตมุ่งมั่นจนเกิดเป็นสมาธิ จิตเป็นหนึ่งเดียวโดยจิตจับอยู่กับพระกระแสธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้มรรคผลตามภูมิธรรมของแต่ละคน
ผลของการปฏิบัติตามแนวทางที่แนะนำไปนั้น ในเบื้องต้นจะสร้างความอดทนให้แก่ผู้ปฏิบัติ ไม่โกรธง่าย ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด ส่วนที่จะเข้าใจหลักธรรมเบื้องต้นได้กระจ่างชัดนั้นก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ โดยเฉพาะการได้ละตัวตนได้แล้วจริงๆหรือไม่ เพราะถ้ายังละไม่ได้ ก็ไม่สามารถไปละตัวอื่นได้เลย
ในสติปัฏฐานสี่ ก็ให้พิจารณากาย คือละกายให้ได้เสียก่อน การตัดสังโยชน์สิบก็ต้องตัดกาย คือสักกายทิฐินี้ก่อนเช่นกัน เมื่อตัดดังนี้ได้แล้ว ก็จะเข้าใจในเรื่องเวทนา จิต และธรรม เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นธรรมอย่างหยาบอยู่ ต้องพิจารณาให้มากขึ้น ธรรมนั้นๆก็จะละเอียดขึ้นเช่นกายในกาย จิตในจิต เป็นต้น ผู้ที่จะเข้าใจหลักสติปัฏฐานสี่อย่างละเอียดได้ก็มีแต่พระอนาคามีและพระอรหันต์เท่านั้น
ธาตุ ๔
ในตอนแรกที่ให้พิจารณาเรื่องลมเข้าลมออกจนเห็นความเกิดดับความไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ แสดงว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา แล้วร่างกายนี้เป็นของใคร ร่างกายนี้เกิดจากบุญกรรมทำให้เรามาได้ร่างกายนี้ ร่างกายนี้ที่ยังคงความเป็นอยู่ได้ก็เพราะยังมีลมหายใจ ถ้าขาดลมหายใจเราก็จะตาย ร่างกายนี้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไม่ได้ ลมภายในหยุดการเคลื่อนไหว ไฟในร่างกายก็ดับลงไม่มีไฟที่จะสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายอีกต่อไป ร่างกายก็เริ่มจะเย็นลง จากนั้นก็เริ่มเน่าเปื่อย น้ำเลือด น้ำเหลืองและส่วนที่เป็นของเหลวจะพุขึ้นมาแล้วค่อยๆแห้งไป ธาตุน้ำก็หมดไป เหลือแต่หนังเนื้อเครื่องในเส้นเอ็นและกระดูก ในส่วนที่เป็นธาตุดินทั้งหมด เนื้อหนังก็ถูกหนอนชอนไชกัดกินจนหมดเหลือแต่กระดูก ที่สุดกระดูกนั้นก็ผุกร่อนเป็นผุยผง ไม่เหลือสิ่งที่เคยเป็นร่างกายมาแล้ว เมื่อเราตายจิตเราก็ไปได้ร่างใหม่ทันที ยกเว้นพระอรหันต์ที่ไม่ต้องไปเกิดจึงไม่มีร่างอีก
พิจารณาเพื่อละเนื้อสัตว์
ร่างกายนี้ประกอบด้วยธาตุ ๔ มีแต่สิ่งเน่าเหม็น แม้น้ำลายของเราแท้ๆเมื่อบ้วนออกไปก็ยังรู้สึกขยะแขยงไม่กล้าเอามากลืนกินอีก อาหารที่เราพึ่งจะกินเข้าไปใหม่ๆไปติดตามซอกฟันเวลาแคะออกมาถ้าเป็นเศษเนื้อก็ยังมีกลิ่นเหม็น เศษผักจะมีกลิ่นน้อยกว่า แต่ถ้าทิ้งไว้นานแคะออกมากลิ่นจะเหม็นรุนแรงมาก ผู้ที่ชอบทานเนื้อสัตว์เมื่อขับถ่ายออกมาจะมีกลิ่นเหม็นมาก ถ้าท้องผูกด้วยแล้วกลิ่นยิ่งเหม็นไปกันใหญ่
คนเราเกิดมานับชาติไม่ถ้วนหาที่สุดของภพชาติไม่ได้ เคยเกิด เคยเป็นมาแล้วทุกอย่าง พระพุทธเจ้าของเราสมัยที่เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์เคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานใหญ่ที่สุดไม่เกินช้างเล็กที่สุดไม่เล็กไปกว่านกกระจอก พระติสสะเคยเกิดเป็นเล็นเล็กมากแทบมองไม่เห็น ตัวเราเองก็ไม่พ้นวิสัย แล้วเราจะไปยึดติดในร่างกายนี้อยู่ทำไม ร่างกายนี่ เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพกรรมที่ทำไว้
ชีวิตเขาชีวิตเราใครๆก็รักชีวิตของตัวเอง เราจะไปเบียดเบียนทำร้ายเขาทำไมกัน สัตว์ที่เราไปทำร้ายเขา เขาอาจเคยเกิดเคยเป็นญาติพี่น้องของเราหรือเป็นพ่อแม่ของเรามาก่อนก็ได้ เพราะความที่คนเราเกิดมานับชาติไม่ถ้วน ดังนั้นเราจะไม่ขาดญาติพี่น้อง บางคนไปเกิดบนสวรรค์ บางคนก็เกิดในนรก บางคนก็เป็นเปรต บางคนก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน ชีวิตเขาชีวิตเราย่อมเกิดจากจิตตัวเดียวทั้งนั้น แต่เขาสร้างกรรมเลวในอดีตปัจจุบันจิตของเขาจึงได้ร่างของสัตว์เดรัจฉาน ส่วนเราสร้างกรรมดีกว่าเขาจิตของเราจึงได้ร่างมนุษย์นี้ ถ้าพิจารณาได้อย่างนี้จริงๆก็จะละเนื้อสัตว์ได้แน่นอน