วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บทที่ ๒๓ นิพพานด้วยปัญญา (๗) จิตยิ้มคืออะไร

จิตยิ้มเป็นไฉนแตกต่างกับการยิ้มยังไง

หสิตุปบาท  คือกิริยาที่จิตยิ้มเอง  โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม  เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น  ไม่มีในปุถุชน  เพราะพ้นเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งแล้ว
                แม้การยิ้มของพระอริยเจ้าทั้งหลายก็ไม่ได้ยิ้มพร่ำเพื่ออย่างปุถุชนทั่วไปต้องมีเหตุที่จะยิ้ม  โอกาสที่จะเห็นพระอรหันต์ยิ้มนั้นไม่มี เพราะการยิ้มคือความพึงพอใจเป็นกิเลสตัวหนึ่งคือโลภะ แม้ในคัมภีร์หรือตำราหลายเล่มอาจมีการบ่งบอกว่า ขณะที่พระเถระบรรยายธรรมแทนพุทธองค์ พระเถระได้บรรยายโดยพิสดารคือสามารถอธิบายธรรมแม้บทด้วยให้มีใจความละเอียดลึกซึ้งจับใจ และธรรมที่มีความยาวก็สามารถย่นย่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น  พระพุทธองค์มีอาการขยับมุมปากนิดหนึ่ง บางตำราก็ว่าท่านแย้มพระโอษฐ์ ไม่ได้ยิ้มแต่แย้ม ตรงนี้อยู่ที่พระเปรียญธรรมทั้งหลายจะแปลความหมายออกมาให้เข้าใจและถูกต้องมากที่สุด
       ในอริยะเจ้าชั้นอนาคามี  สกทาคามี  และโสดาบัน  ยังมีโอกาสได้เห็นท่านยิ้มบ่อย  แต่ที่ท่านยิ้มคือยิ้มปกติที่ยังมีโลภะหลงเหลืออยู่ แต่ไม่ใช่จิตยิ้ม ถ้าหากได้ฟังธรรมอันเป็นเหตุเป็นผลที่ถูกต้อง  จิตของท่านก็จะยิ้ม ตรงนี้ก็ต้องอาศัยการสังเกตุว่าขณะที่จิตท่านยิ้มนั้น เราจะเห็นหน้าตาลักษณะท่าทางโดยเฉพาะที่ปากจะมีลักษณะเช่นไร  การยิ้มปกติกับการยิ้มด้วยจิตของท่านจะมีความแตกต่างกัน  ผู้ใกล้ชิดจะสังเกตเห็นได้

พระมหากัจจายนะ
                ในครั้งพุทธกาลมีพระเถระนามว่าพระมหากัจจายนะ  มีรูปร่างสง่างามผิวเหลืองดุจทองคำ  เป็นที่ต้องตาชื่นชมแก่ผู้พบเห็น  จนกระทั่งมีเหตุการณ์วิปริตเกิดขึ้น  มีบุตรเศรษฐีผู้หนึ่งเห็นพระเถระกำลังยืนห่มจีวรเพื่อเข้าไปบิณฑบาตในเมือง  ในดวงจิตคิดอกุศลว่า  งามจริงหนอ  พระเถระรูปนี้น่าจะเป็นภริยาของเราหรือให้ภริยาของเรามีสีผิวกายเหมือนพระเถระนี้
                ด้วยอกุศลจิตมีเท่านี้  ทำให้เพศชายของเขาหายไป  กลายเป็นเพศหญิงทันที  เขามีความอับอายเป็นอย่างมาก  จึงหลบออกไปอยู่เมืองอื่นและได้เป็นภรรยาของชายเมืองนั้น
                ต่อมาพระมหากัจจายนะได้จาริกมาเมืองนี้  หญิงผู้นั้นได้เข้าไปเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พระเถระฟังและกราบขอขมาโทษต่อพระเถระ  ท่านทราบเรื่องโดยตลอดแล้วก็ยกโทษให้  และเพศหญิงก็หายไป  เพศชายกปรากฏขึ้นดั่งเดิม  เขาเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระเถระ  จึงขอบวชในสำนักของท่าน  ส่วนลูกที่เกิดขึ้นกับภรรยา ๒ คน กับสามีอีก ๒ คน  ก็มอบให้บิดามารดาเลี้ยงดูต่อไป  ไม่นานนักคนผู้นั้นก็บรรลุพระอรหันต์
                เรื่องในสมัยพระพุทธกาลเกิดขึ้นเพราะจิตคิดอกุศล  แต่เรื่องเทพที่อยู่ในบทที่ ๑๗ หัวข้อมิจฉาทิฐิข้างต้นที่มีคนมาเล่าให้ผมฟังเป็นกุศลเจตนา  ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นไปได้  ไม่รู้ว่าคนอื่นได้ฟังมาเหมือนหรือแตกต่างไปจากผมบ้าง  ยังมีผู้ศรัทธาพระมหากัจจายนะหรือพระสังกัจจาย  ได้สร้างรูปหล่อบูชาองค์ท่านลักษณะ  ขัดสมาธิ  ท้องพลุ้ย  หรือนั่งชันเข่าคล้ายเจ้าสัวผู้มีโภคทรัพย์มาก  ส่วนใหญ่จะเห็นผิวกายหน้าท้อง  ใบหน้าอิ่มบุญหัวเราะอย่างมีความสุข ไม่รู้คิดได้อย่างไร  ถ้าเป็นองค์อื่นที่ไม่ใช่พระสังกัจจาย  เป็นเทพองค์หนึ่งที่เขาศรัทธาก็ไม่ว่ากัน  แต่ถ้าเป็นองค์พระสังกัจจายตามที่มีคนทั้งหลายบอกมา  ก็เป็นความเข้าใจผิดขนาดถึงขั้นลบหลู่ท่านเลยทีเดียว
                พระสังกัจจายท่านเป็นพระอรหันต์  ถึงจะเนรมิต กายให้อ้วนท้องพลุ้ย  แต่ก็ยังสำรวมอินทรีย์  ไม่ห่มจีวรด้วยการไม่สำรวม  ไม่หัวเราะ  เพราะด้วยเหตุที่จะให้หัวเราะอันเป็นโลภะนั้นย่อมไม่มีในวิสัยของพระอรหันต์ทั้งหลาย 
                พระนั่งชันเข่าท้องพลุ้ยหัวเราะชอบใจ  บ้างก็ว่าเป็นปางเจ้าสัว  บางที่ก็ว่าเป็นพระศรีอาริยเมตตรัยนั้นยิ่งลบหลู่หนักไปใหญ่  ที่พระพุทธเจ้าไม่สำรวม  เป็นกรรมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  ที่ผมเขียนมานั้นเพื่อต้องการให้ผู้อ่านมีธรรมที่ละเอียดขึ้น ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมา หรือเขามีมานานแล้ว
                  พระศรีอริเมตตรัยและพระสังกัจจายมีลักษณะที่แตกต่างกันคือ พระศรีอริยเมตตรัยจะมีเม็ดพระศกให้เห็นส่วนพระสังกัจจายจะมีศรีษะโล้น พระพุทธเจ้าจะมีเม็ดพระศกพระสาวกจะไม่มี
                ชุมนุมเทวดา
                มีการโต้เถียงกันว่า  เวลานี้พระพุทธศาสนาเสื่อมลง  เพราะมีคนไปหลงยึดติดวัตถุมงคลกันมาก  ฝ่ายนิยมวัตถุมงคลก็ว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์(จตุคามรามเทพ)มาช่วยปัดเป่าทุกข์ให้ชาวบ้าน  ไม่ได้ทำให้พุทธศาสนาเสื่อม 
เวลามีพิธีพุทธาเทวาภิเษก  เกิดสิ่งมหัศจรรย์หลายอย่าง  ทางพระพุทธศาสนาเวลาเจริญพุทธมนต์ยังต้องชุมนุมเทวดาเลย  (สัคเค ฯ)
                ผมอยากจะเตือนสติชาวพุทธให้มีความเข้าใจพุทธศาสนาให้ถูกต้องไม่หลงผิดติดตามกระแสนิยมต่างๆที่เข้ามา  ไม่ว่ายุคใดสมัยใด
                เหตุผลใดๆที่เขากล่าวอ้างกันมาต่างๆนานาก็เรื่องของเขา  มาฟังธรรมของพระพุทธเจ้าและเรื่องราวในพระไตรปิฎกดีกว่า  และใช้ปัญญาพิจารณาตามด้วย
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย  สัตว์ที่จุติจากมนุษย์กลับมาเกิดในมนุษย์มีส่วนน้อยที่ไปเกิดในนรก  กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน  เปรตวิสัยมีมากกว่า  สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในเทพยดามีน้อย  เกิดในนรก  เกิดในสัตว์ดิรัจฉาน  ในเปรตวิสัยมีมาก  สัตว์จุติจากเทพยดามาเกิดเป็นมนุษย์มีน้อย  เกิดในทุคติมีมาก  สัตว์ในนรกเกิดในเทพยดาและมนุษย์มีน้อย  กลับไปเกิดในนรก  สัตว์เดรัจฉานและเปรตวิสัยมีมาก  สัตว์จุติจากสัตว์ดิรัจฉานไปเกิดเป็นเทพยดาหรือมนุษย์มีน้อย  เกิดในทุคติมากกว่า  สัตว์ที่จุติจากเปรตวิสัยไปเกิดเป็นเทพยดามีส่วนน้อย  เกิดในทุคติมากกว่าโดยแท้  (วาเสฏฐสูตร ๓-๒๖๙) 
                อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้  คนไปสวรรค์เท่ากับเขาโค  คนตกนรกเท่ากับขนโค  พวกที่ตกนรกส่วนใหญ่เป็นมิจฉาทิฐิ  ศึกษาธรรมก็เพียงแต่ลูบคลำเฉยๆ
                ครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขอยู่นั้น  ได้พิจารณาเห็นธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้นเป็นธรรมอันละเอียด  ลึกซึ้ง  เห็นได้ยาก  รู้ตามได้ยาก  ถ้าเราจะแสดงธรรม  สัตว์เหล่านั้นไม่สามารถรู้ธรรมของเรา  เราไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุแล้ว  ดังนั้นพระองค์ทรงมีพระทัยที่ขวนขวายน้อยไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรม
                ท้าวสหัมบดีพรหมทราบความดำริของพระผู้มีพระภาคด้วยใจของตนได้มีความดำริว่า ท่านผู้เจริญ  โลกจักฉิบหายหนอ  โลกจักพินาศหนอ  เพราะพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย  ไม่ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อทรงแสดงธรรม
          ท้าวสหัมบดีพรหมจึงหายจากพรหมโลกลงมาอยู่ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค  แล้วคุกเข่าประณมอัญชลีต่อพระผู้มีพระภาคแล้วทูลต่อพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรม  ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีในดวงตาน้อยมีอยู่  สัตว์เหล่านั้นย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม ผู้รู้ถึงธรรมจักมี
            พระพุทธเจ้าทรงทราบคำทูลของพระพรหมแล้วมีความกรุณา  จึงตรวจดูหมู่สัตว์ด้วยพุทธจักษุ  และได้เห็นสัตว์ทั้งหลายเปรียบเหมือนบัวสี่เหล่า  บางพวกสามารถสอนให้รู้ธรรมได้  จึงทรงรับคำทูลของท้าวสหัมบดีพรหม
          ฉะนั้นเวลาพระจะแสดงธรรม  จึงต้องกล่าวคำอาราธนาธรรมที่ท้าวสหัมบดีพรหมทูลขอต่อพระพุทธเจ้าว่า  พรหมมา  จะโลกาธิบตีฯ
          ซึ่งการกล่าวอาราธนาธรรม  ก็ไม่ได้ขึ้นสัคเคฯ ชุมนุมเทวดาก่อนแม้กาลอื่นๆ เช่น  ถวายสังฆทาน  สวดพระอภิธรรมก็ไม่มี  หาผู้รู้จริงได้ยาก  มีแต่สันนิฐานว่า  การขึ้นชุมนุมเทวดามีมาตั่งแต่เมื่อไร  พุทธกับพราหมณ์ผสมกันหรือเปล่า  เพราะงานมงคลที่เจ้าของบ้านจัดขึ้นจะมีสัคเคฯ เสมอ  เพื่อให้เทวดารับรู้ในงานมงคลนี้และกล่าวอนุโมทนา พร้อมนำข่าวการกุศลนี้ไปบอกกับญาติสายโลหิตของเจ้าของบ้าน  แม้ในบทกรวดน้ำยังมีว่า สัตว์เหล่าใดรู้ส่วนบุญนี้ ขอเทวดาทั้งหลาย จงบอกสัตว์เหล่านั้นให้รู้ ซึ่งบทกรวดน้ำนี้ก็มีการแต่งขึ้นภายหลัง
          การกล่าวสัคเคฯ น่าจะเป็นเรื่องของพราหมณ์ที่ฆราวาสนำมาใช้  แต่ฆราวาสสวดไม่ได้  พระกล่าวนำแทนและทำกันมาเรื่อยๆ  เราจะเห็นพิธีกรรมของพราหมณ์ที่มีการบวงสรวงเทพพรหม  การจัดเครื่องเซ่นที่แตกต่างกันไปของเทวดาชั้นต่าง ๆ ที่มีของคาวหวาน  ของพรหมจะเป็นผลไม้ทั้งหมด  เมื่อจัดเครื่องบวงสรวงเสร็จแล้วก็มีการกล่าวชุมนุมเทวดา  ซึ่งทางพุทธเอาของพราหมณ์มาใช้  ศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์เกิดก่อนศาสนาพุทธเป็นพัน ๆ ปี  ฉะนั้นพราหมณ์คงไม่ได้เอาของพุทธไปใช้แน่
                ผิดถูกประการใดตั้งแต่สมัยไหนไม่อาจจะรู้ได้  อีกอย่างบทชุมนุมเทวดาต้องขับเสียงยาว  มีลูกเอื้อน  ลูกคอ  เป็นอาการร้องเพลง  ผิดวินัยสงฆ์พระร้องเพลง  แต่พระส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ  เวลานี้ก็มีพระร้องเพลงโดยไม่รู้ตัวเยอะ  จะชี้โทษให้เห็นต่อไป
 

               ไหว้พระไหว้เจ้าไหว้เทพ                                                                        
คนส่วนใหญ่เวลาไหว้เจ้าหรือเทพมักจะมีอาหารคาวหวานถวายหรือเรียกว่าเซ่นไหว้นั่นแหละ  และมักจะไม่มีกำหนดเวลา  เที่ยงวัน  เที่ยงคืนก็ยังเซ่นไหว้กันได้  และที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการไหว้เจ้าก็คือเหล้า  ให้พิจารณาว่าเทพหรือเจ้าเขาดื่มเหล้าสมควรไหว้หรือไม่
เวลาทำบุญที่บ้านมักจะมีการถวายข้าวพระพุทธ  แต่ในวัดไม่มี  แม้แต่ในโบสถ์หรือวิหารที่มีพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียง  มีรูปหล่อหลวงพ่อดังๆ  ไม่เห็นมีการเซ่นไหว้ด้วยอาหารเลย  ฉะนั้นการทำบุญที่บ้านที่มีการถวายข้าวพระพุทธเป็นการเอาอย่างหรือการบอกกล่าวของพราหมณ์  เช่นเดียวกับการกล่าวสัคเคฯ  พระพุทธเจ้าปรินิพพานนานแล้วไม่เสวยอาหารหรือน้ำ  ตัดความมีตัวตนไม่มีขันธ์ ๕เหลืออยู่ที่จะไปเสวยสิ่งใดๆ                                          ส่วนการไหว้บูชาพระพุทธด้วยดอกไม้ธูปเทียน  เป็นอามิสบูชา  เพื่อเป็นการระลึกถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง  ในอินเดีย  ศรีลังกา  มีการบูชาพระสถูป  เจดีย์  ต้นศรีมหาโพธิ์  ด้วยเครื่องหอมต่างๆ  ไม่มีการบูชาโดยการถวายด้วยอาหาร  ส่วนอาหารนำไปถวายแด่พระสงฆ์
                การฉันภัตตาหารของพระ  ก่อนฉันจะใช้ทำสมาธิเล็กน้อยและยกมือไหว้  ไหว้อะไร  ไหว้ลาข้าวที่ถวายพระพุทธ  เสสังฯ  บางทีก่อนหน้านั้นก็จะสวดพิจารณาอาหารเสร็จแล้วก็ เสสังฯ ก็มี  ดูพระท่านซียังถวายข้าวพระพุทธอยู่เลย นั้นก็แสดงถึงภูมิธรรมของท่านออกมา  การพิจารณาอาหารนั้นถูกต้องอย่างยิ่ง  แต่ก็ยังมีมากกว่านั้น  มีอยู่ในบทข้างต้น เรื่องการให้ทานของนางทาสีชื่อว่านาค
          ส่วนการแก้บนด้วยอาหารคาวหวานต่างๆ พระพุทธท่านก็ไม่ได้รับ  แล้วใครจะได้รับเล่า  เทพหรือเทวดาที่อยู่ประจำรักษาองค์พระหรือสถานที่  ท่านก็ไม่ได้รับเพราะท่านอยู่ด้วยบุญของท่านเอง  อาหารของท่านก็เป็นทิพย์   ท่านได้แต่อนุโมทนาส่วนบุญเท่านั้น  มีแต่ลูกศิษย์ที่คอยอยู่แถวนั้น  เพื่อรอรับการแจกจ่ายทานของผู้แก้บน  ผู้แก้บนก็ได้บุญจากการแจกจ่ายทานนั้น
                รู้เท่าไม่ถึงการณ์
                ชาวพุทธที่เคยไปทำบุญที่วัดและมีโอกาสได้ฟังเทศน์  ฟังธรรมที่วัด  ซึ่งโดยปรกติก็จะเป็นเจ้าอาวาสเป็นผู้แสดงธรรม  โดยการนำคัมภีร์ใบลานมานั่งอ่านให้ฟัง  เพราะพระส่วนใหญ่ไม่ค่อยสันทัดในการแสดงธรรม  ไม่เหมือนกันบางวัดที่มีพระนักเทศน์ที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน  ไม่ว่าพระลูกวัดหรือเจ้าอาวาสเป็นผู้เทศน์จากคัมภีร์ใบลาน  ในคัมภีร์จะมีเรื่องราวต่างๆในพระไตรปิฎกก็มี  บางเรื่องก็มีการรจนาแต่งขึ้นใหม่จากพระมหาเปรียญ  ซึ่งในคัมภีร์ใบลานจะมีการพิมพ์บอกว่าโรงพิมพ์ไหนเป็นผู้จัดทำ  เรื่องที่ปรากฏใครเป็นผู้รจนา  บางคัมภีร์ผู้แต่งก็มรณภาพไปแล้วเสียส่วนใหญ่เพราะใช้กันมานาน  บางคัมภีร์ก็คัดลอกมาจากพระไตรปิฎกล้วนๆก็มี  ภาษาที่ใช้ในพระไตรปิฎกเป็นของเก่าทำให้ผู้ฟังไม่ค่อยเข้าใจ  จึงต้องแปลและเรียบเรียงใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย 
                หนอนทะเลาะกัน
                ครั้งหนึ่งผมได้ไปทำบุญที่วัดแห่งหนึ่งและได้มีโอกาสได้ฟังพระเทศน์ด้วย  เรื่องที่เทศน์ที่เกิดขึ้นในคัมภีร์นั้นได้กล่าวถึงผู้หญิงหลายคนที่มีนิสัยต่างกันคือ  คนที่หนึ่งชอบขโมย  คนที่สองชอบกิน  คนที่สามชอบให้ท่าผู้ชาย  คนที่สี่ชอบพูดโกหกยุแหย่ให้ทะเลาะกัน
                พ่อแม่ทนการกระทำของลูกไม่ได้  อบรมเท่าไหร่ก็ไม่สามารถแก้นิสัยได้  จึงนำลูกไปปล่อยลงเรือ  แล้วแต่ลมจะพัดพาเรือไปทางไหนตามยถากรรม  ไม่นานก็มีเรือสำเภาของพ่อค้ามาเจอและรับขึ้นเรือ
                หลังจากนั้นไม่นานก็มีเหตุวุ่นวายภายในเรือนั้น  ทำให้พ่อค้าเจ้าของเรือต้องทำการไต่สวนถึงสาเหตุนั้น  และจัดการเรื่องทั้งหมดให้เป็นที่เรียบร้อย  โดยให้ผู้หญิงที่ชอบลักขโมยเป็นผู้ไปเฝ้าสมบัติของพ่อค้า  หญิงนั้นเห็นสมบัติมากมายจนเกิดความเบื่อสมบัตินั้นเพราะเห็นอยู่ทั้งวันทั้งคืนไม่รู้จะเอาไปทำอะไร  คนที่สองชอบขโมยของกินก็จัดให้ไปอยู่ในโรงครัวช่วยทำอาหารให้อยู่ให้กินอยู่ในนั้นจนไม่อยากไปขโมยของผู้อื่นมากินอีก  คนที่สามก็จัดการแต่งงานให้มีสามีเป็นตัวเป็นตนจะได้ไม่ต้องไปยั่วหรือให้ท่าผู้ชายคนอื่นจนเกิดการทะเลาะแย่งชิงผู้หญิงคนนั้น  ส่วนหญิงสาวคนที่สี่ชอบยุแยงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดทะเลาะกัน  คนนี้ไม่สามารถแก้ไขได้  จึงถูกจับลอยแพให้เป็นไปตามยถากรรม
                มีนกสองตัวผัวเมียกำลังเที่ยวบินอยู่แถวนั้น  ได้เห็นผู้หญิงถูกลอยแพอยู่กลางทะเลเกิดความสงสาร  จึงชักชวนกันไปช่วยผู้หญิงคนนั้น  โดยนกสองตัวนั้นเอาไม้ในแพมาคาบตัวละข้างและให้หญิงผู้นั้นจับไม้ตรงกลาง  แล้วก็พาบินขึ้นไปบนอากาศเพื่อจะไปส่งให้ถึงแผ่นดิน
                ขณะที่อยู่บนอากาศหญิงนั้นกลับยุแหย่ให้นกสองตัวนั้นเข้าใจผิดและเกิดการทะเลาะกัน  ทำให้ไม้ที่คาบอยู่หลุดออกจากปากนกนั้น  ทำให้หญิงคนนั้นตกลงมาจนถึงแก่ความตาย
                ศพของนางลอยมาติดที่ฝั่ง  และเป็นอาหารของสัตว์แถวนั้น  มีพระเดินทางไปพบศพที่เหลือแต่โครงกระดูกของนาง  จึงนำเอากะโหลกกลับมาที่วัดเพื่อใช้เป็นที่ตักน้ำ  ไม่นานก็เกิดมีการทะเลาะกันภายในวัดระหว่างพระกับฆราวาส  พระท่านพิจารณาแล้วจึงนำกะโหลกนั้นไปใช้ตักน้ำในห้องสุขาของพระ  และแล้วพระเณรก็ได้ทะเลาะกันอีก  แม้แต่หนอนในห้องสุขานั้นก็ไม่เว้นที่จะทะเลาะกัน
                พระทั้งหลายประชุมกันแล้ว  จึงให้นำกะโหลกนั้นไปฝังไว้ยังที่อื่น  เพื่อไม่ให้เกิดการทะเลาะกันอีก
                สรุปแม้คนที่ตายไปแล้วมีนิสัยพูดจายุแหย่ให้ผู้อื่นได้ทะเลาะกัน  กะโหลกนั้นยังเป็นที่รังเกียจของคนทั้งหลายหาประโยชน์อะไรไม่ได้  นั้นเป็นโทษของวจีทุจริต  คือ พูดโกหก  พูดคำหยาบ  พูดส่อเสียด  พูดเพ้อเจ้อ
                ถ้าไม่พิจารณาให้ดีก็ดูเหมือนไม่มีอะไร  แต่ผู้ที่เคยศึกษาพระอภิธรรมมาบ้างจะเข้าใจว่าเรื่องนี้พระปุถุชนเป็นผู้แต่งขึ้นมาเพื่อจะให้เห็นโทษของการพูดมุสาแต่ไม่เข้าใจหลักธรรมที่ละเอียดกว่านี้ว่า  ธรรมดาเมื่อคนหรือสัตว์ที่ล่วงลับไปแล้วจะไปเกิดใหม่ทันทีตามบุญบาปที่ทำไว้  ส่วนร่างที่เหลือแต่กระดูกไม่มีคุณหรือโทษต่อใครๆ  ไม่อาลัยอาวรณ์ต่อร่างเดิมที่มันดับไปแล้วไม่สามารถเรียกกลับมาได้  ด้วยความไม่เที่ยง  ทำกรรมอะไรย่อมได้รับผลของกรรมนั้น
                ถ้าไปเกิดเป็นคนหรือสัตว์ก็ไม่สามารถจำสิ่งที่ทำไว้แล้วในอดีตชาติ  ถ้าเกิดเป็นเทวดา  เปรต  อสุรกายหรือสัตว์นรกก็จะรู้บุญที่ตนเองทำแล้วไปเกิดบนสวรรค์  และบาปที่ตนเองทำให้ไปเกิดเป็นสัตว์นรก  เปรต  อสุรกาย 
                กระดูกของคนที่ตายไปแล้วถูกทับถมไปทุกพื้นที่โดยไม่มีที่ว่าง  คนอย่างผู้หญิงเช่นนี้มีมากนับไม่ถ้วน  ไม่เห็นส่งผลใดๆเลย
                ที่ผมนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง  เพื่อให้นักปฏิบัติและผู้ศึกษาธรรมได้ปัญญาอย่างแท้จริง  มีเหตุและผลอันถูกต้อง  บางครั้งสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมาอาจจะผิดตั้งแต่แรกก็ได้  แต่ได้ยึดถือหรือปฏิบัติกันมาแบบผิดๆเลยทำให้เข้าใจผิดไปด้วย
            เจตนาและความคิดของปุถุชนก็ดี  ไม่อาจเข้าถึงอริยะได้  จึงทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็มี  ซึ่งยังมีเรื่องอื่นๆอีกมาก

 

ไม่มีความคิดเห็น: