เพิ่มคำอธิบายภาพ ผู้วาดภาพประกอบ : กฤษณะ สุริยกานต์ |
๒. ศีล ( สีลกถา ) ศีล แปลว่า ปกติ ผู้รักษาศีลย่อมสงบเย็น เป็นผู้ประเสริฐ ย่อมปลอดภัย เนื่องจากไม่ก่อความชั่ว ศีลที่จะกล่าวถึงคือ ศีล ๕ เวลาสมาทานศีลนั้นพระท่านก็จะว่า สีเลน สุคติงยนฺติ คือ ศีลนำความสุขมาให้ สีเลนะโภคสัมปทา คือ ศีลทำให้มีโภคทรัพย์ สีเลน นิพฺพุติงยนฺติ คือ ทำให้เข้าถึงพระนิพพาน
ศีล อันบุคคลรักษาดีแล้วเป็นของประเสริฐ เป็นของเยือกเย็น ย่อมระงับความเร่าร้อน กลิ่นซึ่งเสมอด้วยกลิ่นศีลจักมีที่ไหนซึ่งพัดไปได้ทั้งตามลมและทวนลมเสมอ บันไดสำหรับพาดขึ้นสวรรค์อย่างอื่นเสมอด้วยศีลจักมีที่ไหน ประตูสำหรับเข้าไปสู่พระนิพพานอย่างอื่นเสมอด้วยศีลจักมีแต่ที่ไหน คนทั้งหลายย่อมยินดีแม้ในกลิ่นของภิกษุผู้มีศีล แม้ในกลิ่นกายของเทวดาทั้งหลาย กลิ่นศีลย่อมกระจายไปทุกสารทิศ การกระทำในผู้มีศีลแม้มีประมาณน้อย ย่อมมีผลมาก เพราะฉะนั้นผู้มีศีลย่อมเป็นภาชนะแห่งการสักการบูชา สมบัติในมนุษย์ทั้งหลาย สมบัติใดในสวรรค์ทั้งหลาย สมบัตินั้นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลปรารถนาย่อมได้ไม่ยาก
ปัจจุบันความศรัทธาของคนเราเริ่มเสื่อมสลายไปเรื่อยๆ เพราะไปยึดในวัตถุนิยมมากขึ้น จิตใจจึงเริ่มเสื่อมลง แม้ในอนาคตสองพันกว่าปีศาสนาพุทธจะหายไปจากโลก แต่ศีลห้าก็ยังคงอยู่ เมื่อเกิดกลียุคข้าวของแพง ต่างแย่งชิงถึงกับรบราฆ่าฟันกันเอง ผู้ที่มีศีลห้าก็จักรอดปลอดภัยจากพิบัติภัยนั้น การเรียนการสอนโดยหลักของพระพุทธศาสนาได้เปลี่ยนไปอย่างมาก จนทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ไปหลงอยู่ในวัตถุกันมาก จึงไม่มีเวลาได้อบรมธรรมกันบ้าง แม้แต่ภิกษุสงฆ์และผู้เกี่ยวข้องทางด้านศาสนายังไม่เข้าใจพอในหลักธรรมที่ช่วยกันเผยแผ่ในเวลานี้ จึงทำให้ศีลห้าถูกลืมไปแล้ว จะทำอย่างไรให้ศีลห้ากลับมา ขอให้ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ได้รู้ในส่วนที่ถูกลืมไปและช่วยกันเผยแพร่ออกไปให้ผู้อื่นได้รับรู้มากขึ้น
การที่จะปิดประตูนรกได้จริงๆนั้น ต้องอาศัยความเพียรอยู่มากทีเดียว และที่สำคัญต้องศึกษาและเข้าใจหลักธรรมให้ถูกต้อง สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและเห็นผลในปัจจุบัน ขอให้ผู้ที่สนใจในการฟังธรรมได้พิจารณาไปเรื่อยๆอย่างมีเหตุและผลแล้วจะพบทางสว่างอย่างแน่นอน
มีเรื่องความเคร่งครัดในองค์ศีลของพระภูริทัตที่จะนำมากล่าวถึง
พระภูริทัตนาคราชเป็นผู้ที่มีฤทธิ์มาก ได้ไปสู่เทวโลกกับมหาราชผู้ทรงพระนามวิรูปักข์ ได้เห็นพวกเทพเทวดามีแต่ความสุขในสวรรค์แล้วก็อยากไปเกิดในสวรรค์ จึงได้รักษาอุโบสถ ต่อมาถูกหมองูจับไปเที่ยวเล่นละคร ได้รับความลำบากมาก แต่สู้อดทนเอา ด้วยกลัวศีลจะขาด จึงไม่กล้าทำร้ายหมองูนั้น เพราะตั้งใจรักษาศีลด้วยยอมสละชีวิต ที่สุดก็ได้รับการช่วยเหลือจากพระเจ้าพาราณสีแล้วกลับสู่เมืองนาค
ต่อมานายพรานที่เป็นเหตุได้มาเกิดเป็นเทวทัต พระภูริทัตได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย เรื่องโดยละเอียดอ่านได้ในพระเจ้าสิบชาติ
ศีลห้าข้อใหญ่ที่คนทั้งหลายรู้จักกันดีแต่รักษายาก มีตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างมาก อ่านและพิจารณาให้ดีจะเพิ่มพูนปัญญายิ่งขึ้นดังนี้
๑. ปาณาติบาต
ผู้กระทำกรรมเช่นนี้ย่อมได้รับการตัดมือตัดเท้า มีโรคที่ศีรษะที่ตาและโรคในท้อง เป็นแผลฝี ผอมแห้ง เป็นบ่อเกิดแห่งโลกทั้งหลาย ย่อมพลัดพรากจากลูกเมียและญาติทั้งหลาย มีความโศกเศร้าอยู่ทุกเมื่อ มีใจสะดุ้งหวาดกลัวอยู่ทุกเวลา นี้เป็นผลกรรมบางส่วนที่ผู้กระทำปานาติบาตพึงจะได้รับ
ผู้ใดมีอาการอย่างข้างต้นพึงเข้าใจว่าได้สร้างกรรมนั้นๆไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในอดีตชาติหรือปัจจุบันชาติก็ตาม เพราะบางอย่างก็ข้ามภพข้ามชาติบางอย่างก็ให้ผลในปัจจุบัน
กรรมของพระโมคัลลานะ ซึ่งในอดีตชาติหลงเชื่อคำยุแหย่ของภรรยา จึงได้ลวงบิดามารดาที่ตาบอดเข้าไปในป่า แล้วทำเสียงตะโกนว่าโจรดักซุ่มอยู่ แล้วเข้าทุบตีทำร้ายบิดามารดาจนเสียชีวิต
ด้วยบุพกรรมนี้ พระโมคคัลลานะเมื่อตายแล้วต้องชดใช้กรรมในนรกนานนับเดือนนับปีไม่ได้ เมื่อพ้นจากนรกแล้วมาเกิดใหม่ต้องถูกทุบตีจนร่างแหลกละเอียดอีกห้าร้อยชาติ แม้ในชาติสุดท้ายได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถจะหนีกรรมนี้ได้ เนื่องจากพระโมคคัลลานะได้กระทำอนันตริยกรรม คือฆ่าพ่อฆ่าแม่
เรื่องของพระเจ้าวิฑูฑภะ พระราชโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศลกับนางวาสภขัตติยา เมื่อพระชันษา ๑๖ พระกุมารเสด็จไปเยี่ยมศากยตระกูล มหาดเล็กที่ตามเสด็จ ได้ยินนางทาสีคนหนึ่งกล่าวว่า นี้เป็นอาสนะที่บุตรของนางทาสีวาสภขัตติยานั่ง (พระเจ้าปเสนทิโกศลต้องการจะเป็นเครือญาติกับแคว้นศากยะแต่แคว้นศากยะยังมีทิฐิถือว่าเป็นวงศ์ที่ใหญ่กว่า จึงให้นางทาสีแต่งตัวอย่างราชธิดาแล้วยกให้กับพระเจ้าปเสนทิโกศลไป) แล้วเอาน้ำเจือน้ำนมล้างอาสนะนั้น มหาดเล็กกลับมาทูลความให้ทราบ พระเจ้าวิฑูฑภะจึงกล่าวอาฆาตว่า เมื่อเราได้ขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อใด จะกลับมาทำลายเหล่าศากยะทั้งหลายให้จงได้
ครั้งได้เสวยราชสมบัติแล้ว พระเจ้าวิฑูฑภะจึงยกกองทัพไปหมายจะทำลายล้างเหล่าศากยะให้สิ้นไป พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระเจ้าวิฑูฑภะยกกองทัพมา ได้เสด็จออกไปห้ามถึง ๓ ครั้งด้วยกัน ในที่สุดทรงเห็นกรรมที่เคยกระทำต่อกันมา จึงปล่อยให้ทั้งสองฝ่ายสู้รบกัน ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก โลหิตของเหล่าศากยะไหลไปประดุจแม่น้ำ
แคว้นศากยะเป็นแคว้นใหญ่มีทหารที่ชำนาญในการยิงธนูแม่นอย่างกะจับวาง แต่ต้องพ่ายแพ้แก่ทหารของพระวิฑูฑภะ เพราะในเวลานั้น ผู้คนส่วนใหญ่ในแคว้นศากยะได้เคยฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว ได้สำเร็จพระอริยะตั้งแต่โสดาบันขึ้นไปเป็นจำนวนมาก ที่เหลือล้วนเข้าถึงไตรสรณคมน์ ในการรบครั้งนี้ ฝ่ายศากยะจึงยิงธนูไปเพื่อป้องกันและข่มขู่เท่านั้น ไม่ได้หมายเอาชีวิต ทำให้ฝ่ายพระเจ้าวิฑูฑภะได้ใจ จึงเข้าทำลายฝ่ายศากยะจนได้ชัย (ฝ่ายศากยะที่ตายไปส่วนใหญ่ได้ขึ้นสวรรค์)
หลังจากได้ชัยชนะแล้ว พระเจ้าวิฑูฑภะได้เสด็จกลับกรุงสาวัตถี ถึงแม่น้ำอจิราวดีในเวลากลางคืน จึงตั้งค่ายพักแรม ณ ที่นั้น บางพวกที่มีกรรมหนักนอนที่หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำ ส่วนพวกมีกรรมเบาก็ขึ้นไปนอนบนที่สูง
คืนนั้นเกิดฝนตกหนัก น้ำหลากมามากมายหนีไม่ทัน ทำให้พระเจ้าวิฑูฑภะซึ่งบรรทมอยู่ริมหาดทรายริมน้ำ สิ้นพระชนม์พร้อมด้วยบริวาร
แสดงให้เห็นว่ากรรมทั้งหลายย่อมมีความแตกต่างกัน ทั้งให้ผลในปัจจุบันและข้ามภพชาติหลายชาติด้วยกัน
แม้ปัจจุบันทำกรรมดีไม่เคยทำกรรมชั่วเลย แต่วิบากกรรมในอดีตชาติยังส่งผลมาให้เลย ดังมีตัวอย่างที่พระชอบเทศน์ให้ฟังเสมอๆ ที่มีพระสามสายเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วไปประสบเหตุมาจึงนำเรื่องเล่าให้พระพุทธเจ้าฟังแล้วโปรดชี้ผลแห่งกรรมในอดีต
ขอนำเพียงเรื่องเดียวมาเล่าให้ฟัง มีพระเดินทางมาทางเรือกับผู้คนจำนวนหนึ่ง ขณะเรือถึงกลางทะเลเรือได้หยุดอยู่กับที่ ไม่สามรถแล่นต่อไปได้ทั้งที่ทุกอย่างก็เป็นปกติดี เจ้าของเรือและผู้คนที่มาด้วยกันลงความเห็นว่า คงมีคนกาลกิณีอยู่บนเรือแน่ จึงทำการเสี่ยงทายด้วยการจับฉลาก ภรรยาของเจ้าของเรือจับได้กาลกิณี คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อเพราะรู้จักนางดี นางไม่เคยทำกรรมชั่วอันใดเลย เป็นที่รักของคนทั้งหลาย จึงทำการจับฉลากใหม่ ไม่ว่าจะให้นางจับก่อนหรือจับหลัง นางจับได้แต่กาลกิณี รวม ๓ ครั้งด้วยกัน นายท้ายเจ้าของเรือ จึงจับภรรยาของตนมัดไว้แล้วปล่อยลงเรือเล็กไป และได้เจาะรูเรือนั้นให้น้ำค่อยๆไหลเข้าไป เพื่อไม่ให้นางต้องได้รับความทรมานจากการหิวโหย
หลังจากนั้นพระที่มากับเรือได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้เล่าความทั้งหมดให้พระพุทธเจ้าฟัง พระพุทธเจ้าจึงตรัสบุพกรรมของหญิงนั้นให้แก่พระสาวกฟัง ความว่า ครั้งหนึ่งภรรยาของนายท้ายเรือเคยเกิดเป็นภรรยาของพ่อค้าผู้หนึ่ง พ่อค้านั้นต้องเดินทางเพื่อค้าขายอยู่ตลอดเวลา นางมีสุนัขเป็นเพื่อนไปไหนมาไหนด้วยกัน อาบน้ำด้วยกัน นอนด้วยกัน จนทำให้ชาวบ้านโจษจันไปว่า นางมีอะไรกับสุนัขตัวนั้น จนทำให้นางมีความอับอายเป็นอย่างมาก วันหนึ่งนางได้เอาอาหารไปล่อให้สุนัขตัวนั้นไปบ่อน้ำ และเตรียมเชือกที่ปลายข้างหนึ่งผูกไว้กับก้อนหินเอาไว้ เมื่อสุนัขไปถึงขอบบ่อน้ำที่มีปลายเชือกข้างหนึ่งทำเป็นบ่วงเอาไว้ ขาสุนัขนั้นได้อยู่ในบ่วงพอดี นางจึงเอาก้อนหินที่ผูกเชือกไว้แล้วโยนลงไปในบ่อน้ำ ทำให้สุนัขตัวนั้นถูกถ่วงน้ำจนตายในที่สุด
ด้วยบุพกรรมนั้นนางจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นกาลกิณีแล้วถูกถ่วงน้ำในชาติปัจจุบัน
พระเตมีย์ใบ้
ก่อนที่จะเกิดเป็นพระโอรสของพระเจ้าพาราณสี ได้เกิดเป็นพระเจ้ากรุงพาราณสีมาก่อน เมื่อเสวยราชอยู่ ๒๐ ปี ได้รับหน้าที่พิพากษาคดี จำเป็นที่จะตรัสสั่งให้ลงราชอาญา จองจำ เฆี่ยนฆ่า ตามพระราชกำหนดกฎหมาย บางทีก็ลงโทษผิดด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว จึงไปตกอุสสุทนรกอยู่ถึง ๘ หมื่นปี เท่ากับ ๓ โกฏิล้านปีมนุษย์ เมื่อพ้นจากนรกแล้ว จึงได้ขึ้นไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จนตลอดอายุขัย แล้วจึงจุติลงมาเกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี มีพระนามว่า พระเตมีย์
เมื่อพระเตมีย์ประสูติได้ ๑ เดือน ได้ทอดพระเนตรเห็นพระราชบิดาตรัสสั่งวินิจฉัยคดี ให้นำโจรไปเฆี่ยนก็มี ไปตัดศีรษะก็มี ไปเสียบหลาวก็มี เมื่อพระเตมีย์ได้ยินพระราชโองการนั้นแล้วให้ทรงสะดุ้งกลัว จึงทรงรำพึงว่าเรามาจากไหนจึงได้มาเกิดในที่นี้ ก็นึกได้ว่ามาจากสวรรค์ แล้วนึกต่อไปว่า ก่อนนั้นเรามาจากไหน ก็นึกได้ว่ามาจากนนรก แล้วไปตกนรกเพราะบาปกรรมที่ทำโทษแก่มหาชน แล้วเราได้ขึ้นไปเกิดในสวรรค์เพราะทาน ศีล ภาวนา แต่มาบัดนี้ เราได้มาเกิดในที่นี้อีกแล้ว เราจะต้องไปตกนรกอีกแล้ว ทำอย่างไรจึงจักพ้นราชสมบัตินี้ไป
ขณะนั้นมีเทพธิดานางหนึ่งซึ่งเคยเป็นพระราชมารดาของพระองค์ในปางก่อน ได้ออกมาจากเศวตฉัตร แล้วกระซิบบอกพระเตมีย์ จงทำเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา ใบ้ บ้า หูหนวก ตาบอดให้จงได้
ต่อนั้นมา พระเตมีย์ก็ทำดังนั้นตลอด ๑๖ ปี คนทั้งหลายเห็นว่าพระองค์เป็นใบ้ เป็นง่อย หูหนวก ตาบอด เป็นคนกาลกิณี ไม่สมควรจะอยู่ครองเมือง จึงถูกนำฝังทั้งเป็นที่ป่าช้า
ขณะที่เพชฌฆาตกำลังสั่งขุดหลุมอยู่นั้น พระองค์ได้ทรงลุกขึ้นจับงอนรถพระที่นั่ง ยกรถขึ้นแกว่งหมุนบนพระเศียร เพื่อทรงทดลองดูว่าจะสู้เพชฌฆาตได้หรือไม่ เพชฌฆาตได้แลเห็นเข้าก็เกรงพระบารมี นั่งลงกราบแทบพระบาทของพระองค์ เรื่องโดยพิสดารหาอ่านได้ในพระเจ้าสิบชาติ
เรื่องของพระเตมีย์ใบ้จะเห็นว่าการเกรงกลัวต่อบาปของพระองค์ทำให้พระองค์ไม่ต้องการครองราชย์ เพราะไม่ต้องการใช้อำนาจในการสั่งฆ่า เฆี่ยนตี จองจำผู้คนทั้งหลาย อันจะเป็นกรรมให้ต้องตกนรกอีก
องคุลิมาล ฆ่าคน ๙๙๙ คน ทำไมรับกรรมแค่ถูกก้อนหินปา การทำผิดศีลข้อปาณาติบาตมีหลักวินิจฉัย ๕ คือ
๑. สัตว์มีชีวิต ๒. ตนรู้ว่าสัตว์มีชีวิต ๓. จิตคิดจะฆ่าให้ตาย ๔. ทำความพยายามฆ่า ๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
ศีลข้อนี้จะขาดต่อเมื่อการทำครบองค์ทั้ง ๕ ข้อ ข้างต้นนี้ จะฆ่าเองหรือใช้ผู้อื่นฆ่า ศีลข้อนี้ขาดเช่นกัน
กรรมมีโทษหนักเป็นชั้นกัน ๓ ข้อ คือ
๑. โดยวัตถุ หมายถึง สิ่งที่มีตัวตน แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
ก. ฆ่ามนุษย์ผู้หาความผิดมิได้ คือ ผู้ไม่ประทุษร้ายตนเองและผู้อื่น มีโทษมากเพราะเกินจากเหตุจำเป็น
ข. ฆ่ามนุษย์ผู้มีอุปการะมาก เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ มีโทษมากเพราะติดประโยชน์สุขของผู้อื่น
ค. ฆ่ามนุษย์ผู้มีคุณความดี มีโทษมากเพราะไม่เป็นแต่ผลาญชีวิตเปล่า ยังทำลายล้างคุณที่เป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นประพฤติตามเสียด้วย
๒. โดยเจตนา หมายถึง ความคิดอ่าน ความตั้งใจ มี ๓ ข้อ คือ
ก. ฆ่าโดยไม่มีสาเหตุ เช่นผู้นั้นไม่มีโทษผิดถึงตาย หรือไม่ได้จะทำร้ายตน มีโทษมาก
ข. ฆ่าด้วยกำลังกิเลสกล้า เช่นรับจ้างฆ่า มีโทษมาก
ค. ฆ่าด้วยความพยาบาท ล้างผลาญให้พินาศ มีโทษมาก
๓. โดยประโยค หมายถึง อาการประกอบการกระทำ ได้แก่ ฆ่าให้ลำบาก เช่น ทุบตี ให้บอบช้ำจนกว่าจะตาย มีโทษมาก
การฆ่าตัวเองก็เช่นกัน เรียกว่า อัตวินิบาตกรรม
การฆ่าสัตว์เดรัจฉาน มีโทษเบาลงโดยวัตถุจากการฆ่ามนุษย์ มีโทษหนักเป็นชั้นกัน ๓ ข้อ
๑. โดยวัตถุ จัดเป็น ๕ อย่าง คือ
ก. ฆ่าสัตว์ที่มีเจ้าของหวงแหน
ข. ฆ่าสัตว์ที่มีคุณ หรือ อุปการะ
ค. ฆ่าสัตว์ใหญ่อันจะใช้ประโยชน์ได้มาก
ง. ฆ่าสัตว์ของตนเอง
จ. ฆ่าสัตว์อันหาเจ้าของมิได้
ทั้งหมดนี้มีโทษมาก
๒. โดยเจตนา มี ๓ อย่าง คือ
ก. ฆ่าโดยหาสาเหตุมิได้
ข. ฆ่าด้วยกำลังกิเลสกล้า
ค. ฆ่าด้วยความพยาบาท
๓. โดยประโยค ได้แก่ ฆ่าให้ลำบาก หรือน่าสมเพช
เรื่องของกรรมและการกระทำเป็นสิ่งที่ซับซ้อน คาดเดามิได้ยากที่จะแยกแยะ เช่นเดียวกับเรื่องขององคุลีมาล และนายเคราแดง
เหตุที่องคุลีมาลฆ่าคน ก็เริ่มจากความริษยาของเพื่อนๆ จึงไปยุยงอาจารย์ต่างๆนานา จนอาจารย์คล้อยตามแล้วหาวิธีกำจัดองคุลิมาลเสีย โดยบอกกับองคุลิมาล ซึ่งเดิมชื่อ อหิงสก ว่า ถ้าเจ้าฆ่าคนให้ได้ ๑,๐๐๐ คนแล้ว เจ้าจะได้วิชาชั้นสูง ตอนแรกองคุลีมาลไม่กล้าทำ เพราะพ่อแม่สอนไว้ไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น แต่ที่สุดก็ทำตามคำของอาจารย์ ตรงนี้อาจารย์มีความผิดมากกว่าองคุลิมาล เพราะไตร่ตรองและวางแผนไว้เป็นอย่างดี และเห็นประโยชน์ของการกระทำนั้น จะทำให้องคุลีมาลถูกผู้อื่นฆ่า เหมือนผู้จ้างฆ่าย่อมผิดมากกว่าผู้ทำตาม อย่างพวกมือปืนทั้งหลาย
เมื่อองคุลีมาลได้ฆ่าคนถึง ๙๙๙ คนแล้ว อีก ๑ คน ก็จะครบ ๑,๐๐๐ คน ด้วยอุปนิสัยขององคุลีมาลที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ด้วยญาณวิเศษของพระองค์ พระพุทธเจ้าจึงมาขัดขวางองคุลีมาลอย่างที่ทุกคนล้วนทราบกันดี
ในที่สุดองคุลีมาลก็ได้บวช พระองคุลีมาลได้เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกซอกซอย ได้เห็นสตรีนางหนึ่งมีครรภ์แก่ แล้วมีความคิดว่า สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองหนอ
ครั้งนั้นพระองคุลีมาลบิณฑบาตเสร็จแล้ว ได้ฉันภัตตาหารและทำกิจอื่นเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลเรื่องทั้งหมด กับที่ได้เห็นหญิงท้องแก่และคิดว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองหนอ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้พระองคุลิมาลกลับไปหาหญิงคนนั้นแล้วกล่าวกับหญิงคนนั้นว่า ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่เกิดมา เราไม่ได้มีความรู้สึกว่าจะแกล้งปลงสัตว์จากชีวิตทั้งที่รู้อยู่หามิได้ ด้วยสัจจะวาจานี้ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่านเถิด
พระองคุลิมาลกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การกล่าวเช่นนั้น เท่ากับข้าพระองค์กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ เพราะข้าพระองค์จงใจปลงชีวิตสัตว์เสียเป็นอันมาก
พระพุทธเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้น เธอจงกล่าวกับหญิงนั้นว่า ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดแล้วในอริยะชาติ เราไม่มีความรู้สึกว่าได้จงใจปลงชีวิตสัตว์เลย ด้วยสัจจะวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านและครรภ์ของท่านเถิด
พระองคุลีมาลรับพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาหญิงนั้น และได้กล่าวกับผู้หญิงนั้นว่า ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดแล้วในอริยะชาติ เราไม่มีความรู้สึกว่าได้จงใจปลงชีวิตสัตว์เลย ด้วยสัจจะวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านและครรภ์ของท่านเถิด
ทันใดนั้น ทารกก็ออกมาดุจน้ำไหลจากที่กรองน้ำพร้อมกับคำสัตย์นั้นเทียว ทั้งมารดาและบุตรมีความสวัสดีแล้ว และพระปริตรนี้ท่านกล่าวไว้ว่า มหาปริตร จะไม่มีอันตรายใดๆ มาทำลายได้
ผู้ที่คลอดลูกลำบากก็จะให้พระท่านสวดองคุลีมาลปริตรเพื่อทำน้ำมนต์ ให้หญิงมีครรภ์แก่ดื่มกินบ้าง ประพรมบ้าง เพื่อให้คลอดลูกง่าย
มาดูสัจจะวาจาที่ว่า เราไม่มีความรู้สึกว่าได้จงใจปลงชีวิตสัตว์เลย ถ้าคำกล่าวนี้เป็นเท็จ พระพุทธเจ้าก็สอนให้พระองคุลีมาลกล่าวเท็จ พระองค์เองก็กล่าวเท็จด้วย แต่คำกล่าวนี้ไม่เป็นเท็จเพราะเหตุไร ก็ต้องดูที่เจตนาเป็นสำคัญ เพราะคำกล่าวครั้งแรกอยู่ในปัจจุบันชาติ พระองคุลีมาลในเวลานั้นยังไม่เข้าใจถึงเรื่องเจตนา พระพุทธเจ้าจึงให้กล่าวถึงอริยะชาติ
ในอดีตชาติพระองคุลีมาลเคยเกิดเป็นพญาเต่ามีร่างกายใหญ่โต ได้ช่วยคนประสบภัยจากกลางทะเลให้ขึ้นมาอาศัยอยู่บนหลังของพญาเต่า ขณะที่รอนแรมอยู่กลางทะเลเป็นเวลานาน ทุกคนต่างมีความหิวโหย จึงตกลงกันฆ่าพญาเต่า เพื่อเอาเนื้อมาแบ่งกันกิน มีอยู่คนหนึ่งที่ไม่ยอมกินเนื้อนั้นเพราะนึกถึงบุญคุณ และไม่ยอมเป็นคนอกตัญญูเนรคุณ มาชาติปัจจุบันคนทั้ง ๙๙๙ คน จึงถูกองคุลีมาลฆ่าตาย เหลืออีกคนกำลังจะถูกฆ่าก็คือแม่ขององคุลีมาล ที่ชาติก่อนไม่ทานเนื้อของพญาเต่า ดังนั้นจึงกลับไปดูเรื่องของเจตนาข้อ ก. โดยวัตถุข้อ ก.
องคุลีมาลเองก็ระลึกชาติไม่ได้ในเวลานั้น ไม่รู้ถึงกรรมที่มีต่อกันมาและไม่ได้อาฆาตแค้นคนเหล่านั้นที่ทำไปเพราะถูกยุยงจากอาจารย์ แม้จะเป็นบุพกรรมที่ทำกันมา องคุลีมาลไปฆ่าเขาก็มีความผิดและเป็นบาปเหมือนกัน
เรื่องของอาจารย์นี้ก็สำคัญ ถ้าเป็นอาจารย์ที่ดีมีคุณธรรม เราทำตามท่านก็มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ถ้าอาจารย์ไม่ดีแล้วเราไปยึดติดกับตัวอาจารย์ ก็จะพากันตกนรกทั้งอาจารย์และศิษย์ การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน เราฟังธรรมจากอาจารย์แล้วต้องรู้จักพิจารณาว่าธรรมนั้นเป็นของพระพุทธเจ้าจริงมั้ย หรือเป็นคำกล่าวของอาจารย์ อาจารย์ปฏิบัติเคร่งครัดรู้หลักธรรมมาก แต่ถ้าพิจารณาให้ดี ท่านยังเป็นปุถุชนอยู่ แล้วท่านมาสอนให้พ้นวิสัยของปุถุชนที่ท่านเองก็ยังทำไม่ได้ ตรงนี้ให้ใช้วิจารณญาณให้ดี ว่าสิ่งใดควรเชื่อควรทำตาม จึงไม่หลงทาง แต่ลูกศิษย์ที่ฟังธรรมจากอาจารย์ที่ยังไม่สำเร็จธรรมแล้วทำให้ตัวเองสำเร็จก็มีแต่น้อย ในสมัยพุทธกาลก็มีอาจารย์ที่ยังไม่สำเร็จมรรคผลแล้วสอนลูกศิษย์จนสำเร็จด้วยกันทั้งอาจารย์และศิษย์ก็มี
หลังจากที่ช่วยหญิงที่ท้องแก่คลอดลูกได้ง่ายแล้ว พระองคุลีมาลก็หลีกออกจากหมู่ เป็นผู้ไม่ประมาท ทำความเพียรอยู่ผู้เดียว ไม่นานนักท่านก็ทำที่สุดพรหมจรรย์ สำเร็จพระอรหันต์ในเวลานั้น
ครั้นเวลาเช้า พระองคุลีมาลได้เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนคร เวลานั้นเองก้อนหินที่คนขว้างไปทางอื่นก็พุ่งเข้าใส่ร่างของท่าน ท่อนไม้ที่คนขว้างไปทางอื่นก็มาถูกร่างกายของท่าน ก้อนดินก้อนกรวดก็เช่นกัน ทำให้พระองคุลีมาลศีรษะแตก เลือดไหล จีวรขาด แล้วท่านก็ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเห็นเช่นนั้น จึงตรัสกับพระองคุลีมาลว่า เธอจงอดกลั้นไว้เถิด ผลกรรมอันเป็นเหตุที่จะทำให้เธอต้องตกนรกหมกไหม้ตลอดปี ตลอดหลายร้อยปี เธอได้ชดใช้แล้วในปัจจุบัน
หมายถึง ถ้าพระองคุลีมาลยังไม่สำเร็จพระอรหันต์ พระองคุลีมาลต้องรับกรรมในนรกเพราะฆ่าคนตาย ๙๙๙ คน แต่เมื่อสำเร็จอรหันต์แล้วไม่ต้องกลับมาเกิดอีก กรรมในนรกก็ไม่ต้องชดใช้ จึงต้องรับกรรมในปัจจุบัน
ที่เป็นกรรมหนักก็เป็นกรรมเบา ต่างกับพระโมคคัลลานะ ที่ต้องถูกทุบตีจนร่างแหลกละเอียดถึง ๕๐๐ ชาติ แม้ชาติสุดท้ายที่สำเร็จพระอรหันต์แล้วก็ตาม เพราะท่านได้ทำอนันตริยกรรม ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน เป็นบาปหนักที่สุด แต่ชาติสุดท้ายท่านไม่ได้ฆ่าพ่อฆ่าแม่นะ บางคนจะเข้าใจผิดจึงให้ดูที่ปัจจุบัน
ในบางตำราก็เขียนเอาไว้เหมือนว่าพระองคุลีมาลได้กล่าวสัจจะวาจานั้นเอง โดยกล่าวถึงอริยะชาติ ถ้าเป็นเช่นนั้น พระองคุลีมาลต้องสำเร็จพระอรหันต์ก่อนจึงสามารถรู้อดีตชาติของท่านเองจึงกล่าวสัจจะวาจานั้นได้
ท่านเคราแดงเป็นเพชฌฆาต ประหารชีวิตตามคำสั่งของพระราชา เมื่อท่านเกษียณอายุแล้ว จิตใจหดหู่นึกถึงการกระทำของตัวเอง ขณะนั้นพระสารีบุตรได้เห็นอุปนิสัยของท่านเคราแดงด้วยญาณทัสนะ จึงมาให้ธรรมกับท่านเคราแดง สิ่งที่ท่านทำไปก็เป็นเพียงหน้าที่ ท่านไม่มีเจตนา
เมื่อท่านเคราแดงคลายจากจิตที่หดหู่แล้ว พระสารีบุตรก็ได้แสดงธรรมต่อไป จนท่านเคราแดงได้ดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคล ต่อมาไม่นานท่านก็เสียชีวิตลงและไปเกิดบนสวรรค์
ในเวลานั้นถ้าท่านเคราแดงไม่ได้โสดาบันบุคคล ท่านต้องไปตกนรกอย่างแน่นอน
การกระทำสำคัญที่เจตนา ก่อนทำขณะทำและหลังทำจิตเป็นอย่างไร คนเราเวลาใกล้จะตายญาติๆก็ให้นึกถึงพระ ให้ท่องพุทโธ ให้นึกถึงบุญที่เคยทำ ตายแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ แม้จะไม่เคยทำบุญทำทานมาเลยในชีวิต ขณะใกล้ตายนึกถึงพระพุทธเจ้า ตายไปก็ไปเกิดบนสวรรค์ ส่วนคนที่ทำบุญมามากมายใกล้ตายมัวห่วงลูกห่วงหลาน ทรัพย์สมบัติ โกรธ อาฆาตแค้น ตายไปก็เป็นสัตว์เดรัจฉานหรือเป็นสัตว์นรก
จิตสุดท้ายก่อนตายสำคัญมาก จะเป็นเครื่องบ่งบอกว่าตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไรอยู่ที่ไหน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่พ้นจากนรกไปได้ ช้าเร็วก็ต้องมารับกรรมอยู่ดี เสวยบุญบนสวรรค์หมดแล้วก็ต้องมาตกนรก เพราะคนเราทำเหตุให้ปิดประตูนรกยังไม่ได้ จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดหาที่สุดไม่ได้
๒. อทินนาทาน
ศีลข้อนี้บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันการทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติของกันและกัน คือ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ผู้ล่วงละเมิดศีลข้อนี้ ย่อมได้รับผลเป็นผู้ยากจน เป็นคนกำพร้าเข็ญใจ เป็นขอทาน เป็นคนใช้ (ทาส) ของผู้อื่นตลอดเวลา
ในสมัยพระพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารได้บริจาคทานแล้ว ในวันต่อมาได้ทูลเล่าเหตุการณ์ว่าเมื่อคืนนี้ได้ยินเสียงประหลาดน่าสะพรึงกลัว ไม่ทราบว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นแก่แผ่นดิน พระศาสดาตรัสว่า อย่าทรงวิตกไปเลย นั่นคือเสียงญาติในอดีตของพระองค์ที่ไปบังเกิดเป็นเปรต จึงตรัสถึงบุพกรรมของเปรตเหล่านั้นให้ฟัง
ในสมัยของพระปุสสะพุทธเจ้า พระราชาผู้ครองนครกาสี พระนามว่าชัยเสน พระมเหสีพระนามว่าสิริมา เป็นพระราชบิดามารดาของพระปุสสะพระพุทธเจ้าอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าด้วยพระองค์ตลอดมาไม่ยอมให้คนอื่นช่วย พี่น้องต่างมารดาของพระปุสสะ ๓ คนคิดว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมบังเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลชาวโลก มิใช่เกื้อกูลแก่บุคคลเพียงคนเดียว จึงออกอุบายจนได้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเพียง ๓ เดือน
จากนั้น จึงพาบุตรบริวารพันหนึ่งสมาทานศีล ๑๐ นุ่งห่มผ้ากาสาวะ รับสั่งให้อัครเสนาบดีและเสนาคลัง ร่วมกันเบิกเสบียงตามวาระจากเรือนคลังทั้งหลายของพระพี่น้องทั้ง ๓ ถวายทาน
ก่อนถึงเวลาถวายทาน บุตรของเจ้าหน้าที่เหล่านั้นร้องไห้ต้องการข้าวยาคูและภัต เป็นต้น เมื่อภิกษุสงฆ์ยังไม่ทันมา เจ้าหน้าที่ก็แจกสิ่งของเหล่านั้นเป็นบางส่วน ให้แก่บุตรของตนก่อน ในเวลาที่ภิกษุสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว จึงไม่มีของสิ่งใดเหลือเลย ผลแห่งการเบียดบังอาหารที่จะถวายแก่สงฆ์ เมื่อเจ้าหน้าที่เหล่านั้นสิ้นชีพลง ได้ไปบังเกิดเป็นเปรตประสบแต่ความหิวกระหาย บางแห่งก็ว่ายืมไปก่อน เดี๋ยวหามาคืนให้ แต่หามาไม่ได้จนเสร็จงานไปแล้ว ก็คิดว่าไม่เป็นไร อันเป็นการทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
แม้ในปัจจุบันนี้ ที่ชาวบ้านได้ยืมของวัดไปใช้แล้วทำแตกหักสูญหายไปบ้าง ต้องรีบซื้อมาใช้ให้ครบ มากกว่าก็ดี ดีกว่าก็ดี ย่อมเป็นผลดีทั้งนั้น
พวกเปรตเหล่านั้นรอคอยเวลาที่จะได้รับอาหารเป็นเวลานาน เฝ้าทูลถามพระพุทธเจ้าที่ผ่านมาแล้วถึง ๓ พระองค์ จนถึงสมัยพระกัสสปพระพุทธเจ้าตรัสว่า พวกเจ้าจักยังไม่ได้ในกาลของเรา แต่ภายหลังพระพุทธเจ้านามว่าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้น พระราชานั้นจักถวายทานแด่พระศาสดา แล้วจักให้ส่วนกุศลแก่พวกเจ้า พวกเจ้าจักได้อาหารในคราวนั้น เปรตเหล่านี้จึงต้องรอคอยมาอีกพุทธันดรหนึ่ง
ถ้าจะว่าไปจะขโมยก็ไม่ใช่ ยักยอกก็ไม่ใช่ หยิบฉวยโดยพลการ เพราะคิดว่าเราก็เป็นเจ้าหน้าที่ พระฉันไม่หมดอยู่แล้ว ที่เหลือเราก็ต้องได้กินอยู่ดี แต่ของเหล่านั้น เขามีความตั้งใจจะถวายทานก็ควรจะให้ทานให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน ด้วยกรรมเท่านี้จึงไปเกิดเป็นเปรต ถ้าเขามีความตั้งใจขโมยเหมือนพวกมิจฉาชีพทั้งหลาย ที่ขโมยเงินบริจาคของทางวัด ข้าวของต่างๆ พระพุทธรูป ถ้วยชามของเก่าของวัด เป็นต้น จะได้รับกรรมแค่ไหน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น