วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บทที่ ๑๔ นิพพาน (๑)


                อย่างไรจึงยังไม่บรรลุธรรม
ทุกวันนี้ที่มีสถานปฏิบัติธรรมหลายแห่ง  มีผู้สนใจไปปฏิบัติธรรมกันมาก  ที่ไหนถูกจริตก็อยู่กันนานหน่อย  ที่ไหนไม่ถูกจริตก็แสวงหากันไปเรื่อยๆ  จนผู้แสวงหาไม่รู้จะใช้วิธีการอะไรจึงเหมาะสม
สติปัฎฐานสูตรในตอนท้ายสุดว่า  ผู้ใดเจริญสติปัฎฐาน ๔  เหล่านี้อย่างมาก  ๗  ปี  อย่างน้อย  ๗ วัน  ย่อมหวังผลได้  ๒ อย่างคือ
    ๑.   บรรลุอรหันต์เป็นพระอรหันต์
   ๒. เมื่อยังมีอุปาทิคือสิ่งที่ยึดมั่น  ได้แก่  อุปาทานขันธ์เหลืออยู่จะบรรลุเป็นพระอนาคามีในทิฐธรรม
            เมื่อในสติปัฎฐานได้กล่าวไว้อย่างนั้น  ทำให้ผู้สอนยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติและอบรมให้แก่ญาติธรรมทั้งหลาย  แต่ความจริงที่ปรากฏต่อผู้สอนและผู้ปฏิบัติ  มีใครสักกี่คนที่ปฏิบัติจนบรรลุธรรมตามแนวทางสติปัฎฐาน
            สติปัฎฐานเป็นทางแห่งอริยมรรคเพื่อแจ้งพระนิพพานก็จริงอยู่  แต่วิธีการสอนการปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้องหรือยัง  จึงทำให้เนิ่นนาน  ยังติดอะไรอยู่และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
            มีผู้ศึกษาพระอภิธรรมจำนวนมากที่ยังยึดติดในรูปแบบและตำรากันอยู่  จนยิ่งศึกษาก็ยิ่งไกลตัว  เป็นเรื่องยาก  จนมองไม่เห็นทางดับทุกข์ได้  เหมือนกับพระใบลานเปล่าในสมัยพุทธกาล  หรือแม้แต่ในปัจจุบันมีทั้งพระและเณรที่จบเปรียญธรรม ๙  ประโยคกันก็มาก  เทียบเท่ากับปริญญาตรี  ก็เหมือนพระใบลานเปล่ากันมาก  คือรู้แต่ในตำราแต่ไม่สามารถบรรลุธรรมได้  ประเภทที่จบปริญญาทางพุทธศาสนาแล้วลาสิกขา  เพื่อนำวุฒิทางธรรมไปเทียบกับทางโลกเพื่อประกอบอาชีพการงานกันก็มีมาก ยิ่งกว่านั้นยังมีการสอนการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพระนิพพานโดยเร็ว  ด้วยการทำอารมณ์ให้ว่าง  คือว่างจากทุกสิ่ง  ไม่ว่าสิ่งใดมากระทบก็พิจารณาให้ว่างเปล่า  สุญญตสมาธิความตั้งใจมั่นกับความว่าง
            สำหรับสติปัฎฐานสูตรที่พระพุทธเจ้าเทศน์เฉพาะชาวแคว้นกุรุเท่านั้น  เนื่องจากเป็นกรรมฐานที่ละเอียด  เพราะชาวแคว้นกุรุมีอารมณ์จิตละเอียดมาก  เขาเจริญสติปัฎฐานสูตรเป็นปกติอยู่แล้วก่อนที่พระพุทธเจ้าจะสอน  พระพุทธเจ้าทรงรับรองผลจึงเข้าไปอธิบายให้มันสูงไปกว่านั้น  นอกจากจะทรงสติสัมปชัญญะแล้ว  ก็ยังมีวิปัสสนาญาณ  อันนี้พระพุทธเจ้าต่อท้ายด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณมีอริยสัจ เป็นต้น  เพื่อให้เข้าถึงมรรคผลนิพพาน
            ปุถุชนที่หนาด้วยกิเลส  มีจิตที่ยังหยาบอยู่  การที่จะเข้าถึงสติปัฎฐานจึงยังเป็นของยากอยู่  จึงพิจารณาจริตของตัวเองก่อนแล้วใช้กรรมฐานให้ตรงกับจริต  เพื่อกระทำจิตให้ละเอียดยิ่งขึ้น  แล้วค่อยเจริญสติปัฎฐานจะทำให้ได้ผลเร็วขึ้น
            เปรียบความรู้เท่าม.ปลายจะไปเรียนปริญญาโท  หรือดอกเตอร์ไม่ได้  ต้องผ่านปริญญาตรีเสียก่อน  ฉันใดก็ฉันนั้น  ไม่มีทางลัดจะให้ไปได้ง่ายๆหรอกพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนไปตามลำดับ  ที่เรียกว่า  อนุปุพพิกถา  ปัจจุบันอยุ่ภายในพันปีที่ ๓ ที่ยังมีผู้ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอนาคามี อย่างนี้แล้วจะไปหาพระอรหันต์ได้ที่ไหน
            มีโจทย์อยู่  ๒ ข้อ  ให้พิจารณากัน
๑.   โลภะ  + ทสะ  + โมหะ  =  0 ศูนย์ (นิพพาน)
                      X            Y            Z
            เรารู้คำตอบอยู่ว่า  ศูนย์  ฉะนั้นเราจะแทนค่า x, y, z เป็นศูนย์ได้ไหม  แต่ ๐( ศูนย์ )  นี้  ไม่มีค่าอะไรเลย  จะนำไปบวกลบคูณหารไม่ได้ 
ฉะนั้นค่าของ  x, y, z จึงไม่ใช่ศูนย์  วิธีนี้จึงใช้ไม่ได้
แทนค่า x, y, z ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา
๒. โลภะ  + ทสะ  + โมหะ  =  0 ศูนย์ (นิพพาน)
ศีล       สมาธิ     ปัญญา
           โมหะ  เกิดจากความเห็นผิดจึงต้องอาศัยปัญญา  ดังนี้
            กลุ่มปัญญา
            ๑.  ความเห็นชอบ    ปัญญาเห็นในอริยสัจ ๔
            ๒.  ความดำริชอบ    คิดออกจากกาม  ไม่ผูกโกรธ
            โลภะ  จะหมดได้พึงรักษาศีลให้บริสุทธิ์  ดังนี้
            กลุ่มศีล
            ๓.  วาจาชอบ            วจีกรรม ๔ ไม่พูดเท็จ   ไม่พูดส่อเสียด  ไม่พูดคำหยาบ  ไม่พูดเพ้อเจ้อ
            ๔.  กระทำชอบ           กายกรรม ๓ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
            ๕.  เลี้ยงชีวิตชอบ     มโนกรรม                ๓  ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น ไม่คิดพยาบาท เห็นชอบตามคลองธรรม
            โทสะ  เกิดจากการขาดสติจำต้องอาศัยสมาธิ  ดังนี้
            กลุ่มสมาธิ
            ๖.  ความเพียรชอบ   ละบาป  เพิ่มบุญ  ทำกุศลไม่ให้เสื่อม
            ๗.  ระลึกชอบ                       ให้มีสติตั้งมั่นในสติปัฎฐาน ๔
            ๘.  สมาธิชอบ                       ความตั้งมั่นของจิตให้เป็นหนึ่งเดียว
       เมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา บริสุทธิ์โดยหลักของมรรค ๘ ก็จะทำให้โลภะ  โทสะ  โมหะ หมดไปจึงกลายเป็นศูนย์ก็เท่ากับนิพพาน
            ฉะนั้นหนทางสู่ทางนิพพาน  จึงต้องอาศัย  มรรค  ๘  เพื่อประหารกิเลสทั้งหลายให้เป็น สมุจเฉท  เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว   จงทำให้เห็นจริงว่า
            สพฺเพ  สฺงขารา  อนิจฺจา  สพฺเพ  สฺงขารา  ทุกฺขา
            สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง  สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์
            สังขารเป็นตัวปรุงแต่ง  คือ  อาการของจิตนั้นไม่เที่ยง  แต่สัตว์โลกของเขาเที่ยง  ไม่ว่าการเกิดไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก  จนเกิดโลกใหม่ขึ้นมา  จะอยู่ในยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตาม  คน  สัตว์  สิ่งของ  ของเขาเกิดมีอยู่อย่างนั้น  จึงว่า 
          สพฺเพ ธมฺมา  อนตฺตา  
         ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน  หากแต่จิตของเราเข้าไปยึดเอาไว้ว่า  เป็นเรา  ของเรา  เป็นสัตว์  สิ่งของ  จิตจึงไม่เป็นผู้หลุดพ้น
            เมื่อพิจารณาความเกิดขึ้นในจิตจริงๆ  จนชำนาญเห็นจริงแล้ว  จิตย่อมจะรวมใหญ่  เมื่อรวมพึบลงปรากฏทุกสิ่งอย่างรวมลงเป็นอันเดียวกัน  คือหมดทั้งโลก  ย่อมเป็นธาตุทั้งสิ้น  นิมิตปรากฏขึ้นพร้อมกันจนโลกนี้ราบเป็นหน้ากอง  ไม่ว่าต้นไม้  ภูเขา  มนุษย์  สัตว์  แม้ที่สุดตัวของเราก็ต้องล้มราบอย่างเดียวกัน  พร้อมกับญาณสัมปยุต  คือรู้ขึ้นมาพร้อมกัน  ทั้งรู้ทั้งเห็นตามความเป็นจริง
   ความว่างที่เป็นไปตามอำนาจแห่งอารมณ์  สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเป็นของปลอม  ส่วนความว่างที่เป็นไปตามอำนาจแห่งความว่าง  สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเป็นของจริง
            สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า  ธรรมของพระตถาคตเมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้วย่อมกลายเป็นของปลอม  แต่ถ้าเข้าไปประดิษฐานในจิตสันดานของพระอริยะเจ้าแล้วไซร้  ย่อมเป็นของบริสุทธิ์แท้จริงและไม่ลบเลือน
            ธรรมชาติทั้งหลายในโลกนี้จะเป็นของมีวิญญาณหรือไม่ก็ตาม  ความจริงแล้วเขาหากมีหากเป็น  เกิดขึ้นเสื่อมไป  มีอยู่อย่างนั้นโดยไม่ต้องสงสัยเลย  จึงรู้ว่า  ปุพฺเพสุ  อนนุสฺ  สุเตสุ  ธมฺเมสุ  ธรรมดาสิ่งเหล่านี้มีมาแต่ก่อน  ถึงจะไม่ได้ฟังมาจากใครก็มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว  ในข้อความนี้ พระพุทธองค์จึงทรงปฎิญาณพระองค์ว่าเราไม่ได้ฟังมาจากใคร  มิได้เรียนจากใคร  เพราะของเหล่านี้มีอยู่ก่อนพระองค์ดังนี้  พระองค์ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
       จะอธิบายถึงความว่างเพิ่มเติมเหมือนโจทย์เลขข้อหนึ่งที่คนมีปัญญาสามารถแก้โจทย์ข้อนี้และได้คำตอบที่ถูกต้อง  แล้วเพื่อนๆก็ลอกคำตอบมา แต่เพื่อนๆไม่สามารถที่จะเข้าใจวิธีทำที่จะให้ได้คำตอบนั้นมา เหมือนเรารู้คำตอบว่านิพพานคือความว่างแต่ไม่รู้ว่าว่างได้อย่างไร  ยังมีคำอธิบายสำหรับผู้ที่สงสัยกับผู้ที่มีปัญญาที่จะค้นหาความจริงนั้นได้ก็คือ ปฏิจจสมุปบาท  ธรรมเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน  สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้  ทรงมนสิการปฎิจจสมุปบาทเป็นอนุโลมและปฏิโลมตลอดปฐมยามราตรีว่า  เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร   เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ    เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป  เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ (สฬายตนะคือ อายตนะ ๖  ตา  หู ลิ้น จมูก กาย ใจ )  เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ  เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา  เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา  เพราะตัณหาเป็นเป็นปัจจัยจึงมีอุปทาน  เพราะอุปทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ  เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ  เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมี ชรา  มรณะ  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้   อนึ่งเพราะอวิชชานั้นแลดับโดยไม่เหลือ  สังขารจึงดับ   เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ   ฯลฯ  เพราะชาติดับ  ชรา  มรณะ  โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสจึงดับ   เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลย่อมดับด้วยประการฉะนี้   เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่  เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป  เพราะมารู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ   เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย   พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้   ดุจพระอาทิตย์อุทัยทำให้อากาศสว่าง ฉะนั้น (วินัยปิฏก  มหาวรรคภาค ๑ มหาขันธกะ )  ดูก่อนอานนท์  เพราะไม่รู้จริง  เพราะไม่แทงตลอดซึ่งธรรมอันนี้ (คือปฏิจจสมุปบาท )  หมู่สัตว์จึงเกิดเป็นผู้ยุ่งประดุจด้ายของช่างหูก  ไม่พ้นอบาย   ทุคติ  วินิบาต  สงสาร  ดูก่อนอานนท์  เมื่อเธอถูกถามว่าชรามรณะมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ  เธอพึงตอบว่ามี คือมีชาติเป็นปัจจัย  ฯลฯ   ดูก่อนอานนท์   เพราะอาศัยเวทนาจึงเกิดตัณหา   เพราะอาศัยตัณหาจึงเกิดการแสวงหา  เพราะอาศัยการแสวงหาจึงเกิดลาภ  เพราะอาศัยลาภจึงเกิดการตกลงใจ  เพราะอาศัยการตกลงใจจึงเกิดรักใคร่และพึงใจ  เพราะอาศัยการรักใคร่และพึงใจจึงเกิดการพะวง   เพราะอาศัยการพะวงจึงเกิดความยึดถือ  เพราะอาศัยความยึดถือจึงเกิดความตระหนี่  เพราะอาศัยความตระหนี่จึงเกิดการป้องกัน  อกุศลกรรมอันชั่วช้าลามกมิใช่น้อย  คือการถือไม้ถือมีด  การทะเลาะ  การแก่งแย่ง  การวิวาท    การกล่าวคำหยาบ   การพูดส่อเสียดและการพูดเท็จย่อมเกิดขึ้น  ดูก่อนอานนท์  ถ้าการป้องกันมิได้มีแก่ใครในภพไหนๆ อกุศลกรรมอันลามกมิใช่น้อย  มีการถือไม้ถือมีดเป็นต้นจะพึงเกิดขึ้นได้ไหม  ถ้าความตระหนี่มิได้มี  ฯลฯ  ดูก่อนอานนท์  เรากล่าวว่านามรูปเป็นปัจจัยแห่งผัสสะ  การบัญญัตินามกายต้องพร้อมด้วยอาการ   เพศ  นิมิต  อุเทศ  (การยกขึ้นแสดง )   เมื่ออาการเพศ นิมิตและอุเทศนั้นๆ ไม่มี  การสัมผัสเพียงแต่ชื่อในรูปกายจะพึงปรากฏได้บ้างไหม  การบัญญัติรูปกายก็เช่นเดียวกัน  เพราะเหตุนั้น  ปัจจัยแห่งผัสสะคือนามรูป  ดูก่อนอานนท์  เรากล่าวว่าวิญญาณเป็นปัจจัยแห่งนามรูป  ก็ถ้าวิญญาณจักไม่หยั่งลงในท้องแห่งมารดา หรือว่าหยั่งลงแล้วล่วงเลยไป  หรือวิญญาณนั้นขาดการสืบต่อ  นามรูปจะเกิดขึ้น หรือเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ไหม   อีกนัยหนึ่งนามรูปเป็นปัจจัยแก่วิญญาณก็ถ้าวิญญาณไม่ได้อาศัยนามรูปแล้ว  ความเกิดขึ้นแห่งชาติชรา  มรณะ  และกองทุกข์ทั้งมวลจะพึงปรากฏต่อไปได้บ้างไหม  เพราะฉะนั้นแลอานนท์   เหตุ  นิทาน  สมุทัย   ปัจจัยแห่งวิญญาณก็คือนามรูปนี้เอง   ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้แหละ อานนท์ ( มหานิทานสูตร  ๑ ๒๕๒ )   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุจงใจดำริและครุ่นคิดถึงสิ่งใดสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ  เพราะมีอารมณ์ปัจจัยความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี   เมื่อวิญญาณตั่งมั่นแล้วเจริญแล้ว  ความบังเกิดในภพใหม่ต่อไปจึงมี   เมื่อมีความบังเกิดในภพใหม่ต่อไป   ชาติชรา  มรณะ   โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสจึงมีต่อไป ฯ   ภิกษุไม่จงใจ  ไม่ดำริ  แต่ยังครุ่นคิดถึงสิ่งใด   สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ ฯ  ภิกษุไม่จงใจ  ไม่ดำริ  ไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด   สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นอารมณ์ปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ   เมื่อไม่มีอารมณ์ปัจจัย  ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงไม่มี    ความบังเกิดคือภพใหม่จึงไม่มี   ชาติชรามรณะ ฯ    จึงดับ  (เจตนาสูตรที่ ๑๒-๓๗ )  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  กายนี้ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย   ทั้งไม่ใช่ของผู้อื่น   กรรมเก่านี้พึงเห็นว่าเป็นปัจจัยปรุงแต่ง   เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจเป็นที่ตั้งของเวทนา ( นตุมหากังสูตร ๒-๓๗ )
            แล้วกลับมาดูที่ศูนย์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร  ศูนย์ย่อมเกิดมีขึ้นของมันเองอยู่แล้ว บางคนก็ว่าเป็นพลังงานชนิดหนึ่งที่ไม่มีการเคลื่อนไหว   บางสำนักก็ว่าเป็นนิพพาน เรามาจากแดนนิพพานต้องกลับไปยังที่เดิม   พลังงานหรือจิตที่มองไม่เห็น (จิตไม่ใช่วิญญาณ   วิญญาณ  ๖  หมวด  มี    จักษุวิญญาณ   โสตวิญญาณ   ฆานวิญญาณ   ชิวหาวิญญาณ    กายวิญญาณ   และมโนวิญญาณ    ความเกิดแห่งวิญญาณย่อมมีเพราะความเกิดแห่งนามรูป   อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ )   พลังงานที่มองไม่เห็นเปรียบเหมือนความว่างเปล่า   พลังงานตัวนี้ได้ล่องลอยอยู่ในอากาศ  นานวันเข้าก็ไปกระทบกับสิ่งต่างๆรอบตัวแล้วไปยึดติดว่าเป็นของเรา  ตัวยึดติดก็คืออวิชชา  เมื่อยึดติดตัวอวิชชาแล้วก็เกิดการปรุงแต่งทำให้เกิดมีสังขาร วิญญาณ  นามรูป  ฯลฯ   อีกนัยหนึ่งศูนย์ก็คือความว่างเปล่าที่ไม่มีค่าอะไรแต่พยายามหาค่าให้กับตัวเอง  จึงไปรวมกับอวิชชาทั้งหลายจึงมีค่าเป็น  ๑๐   ๒๐  ๓๐  ๔๐  ๕๐   ๑๐๐   ๑๐๐๐ ฯลฯ   แต่ตัวมันเองอยู่โดดๆไม่ได้ไม่มีค่าอะไร   ฉะนั้นการที่จะอธิบายเรื่องของนิพพานหรือความว่างให้ชัดเจนนั้น   เป็นไปได้ยาก ดูการพิจารณาในบทต่อไป

1 ความคิดเห็น:

phoo กล่าวว่า...

ตอบปํญหาทางธรรมเชิญทางนี้