วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บทที่ ๑๕ นิพพาน(๒)


   นิพพาน แดนนิพพาน นิพพานอยู่ไหน นิพพานมีลักษณะอย่างไรเป็นอนัตตาหรือไม่หรือว่าเป็นสูญว่างเปล่า มีคำถามและคำตอบมากมาย จะอ้างอิงจากตำราหรือจากปากของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ใครเชื่อตำราก็ว่าของเขาถูก เชื่อครูบาอาจารย์ก็ว่าของเขาถูก และพวกที่เชื่อว่านิพพานไม่มีก็ว่าของเขาถูก

     ผมเองก็ดูจากตำราและสมควรที่จะเชื่อในส่วนไหน แต่ผมมีข้อวินิจฉัยหรือหลักพิจารณาดังนี้

       ๑.  ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าสำเร็จโพธิญาณแล้วและพิจารณาว่าธรรมที่พระองค์ค้นพบนั้นเป็นของลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ละเอียด ยากที่จะเข้าใจได้ เพราะหมู่สัตว์ทั้งหลายไม่มีฐานะที่จะสงบระงับสังขารทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะความคลายกำหนัดยินดี นิพพานประด้วยมรรคมีองค์ ๘ เป็นปฏิปทาเพื่อกระทำนิพพานให้แจ้ง ก็จะเห็นได้แสนยาก ถ้าเราจักแสดงธรรมแก่สัตว์ที่ไม่รู้ทั่วถึงธรรมของเรา จะเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า จะพึงความลำบากแก่เรา

            ท้าวสหัมบดีพรหมทราบความดำหริในพระทัยของพระพุทธองค์จึงลงมาจากพรหมโลกมาปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์ แล้วทำความเคารพและทูลต่อพระผู้มีพระภาคว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ    ขอพระมีพระภาคเจ้าได้โปรดทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อยมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี”
     พระพุทธเจ้าทรงทราบคำทูลอาราธนาของพรหม และทรงอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์จึงทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยทิพยจักษุญาณ เมื่อทรงตรวจดูแล้วก็แบ่งคนออกเป็น ๔ กลุ่มหรือบัว ๔ เหล่า
     ครั้นทรงเห็นแล้วมีดำริที่จะแสดงธรรมแก่ผู้ใดก่อน ก็ให้นึกถึง อาฬารดาบส พระองค์ทรงทราบด้วยพระสัพพัญญุตญาณว่า อาฬารดาบสเสียชีวิตแล้ว ๗ วัน บุคคลต่อมาก็คือ อุทกดาบส ท่านก็เสียชีวิตไปแล้วเมื่อหัวค่ำวานนี้ พระพุทธองค์ก็ทรงพิจารณาต่อว่าทั้ง ๒ ท่านไปอยู่ที่ไหน ไปอยู่พรหมโลกชั้น ๒๐ และ๑๙ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ  อากิญจัญญายตนภูมิ เป็นชั้นอรูปพรหมที่ไม่มีรูปมีแต่จิต ไม่มีตัวตนอย่างมนุษย์แล้วจะเอาหูที่ไหนมาฟังธรรมได้

     ข้อพิจารณา ๑.
     บุคคลที่สำเร็จแล้วละสังขารไปอยู่ชั้นอรูปพรหม แม้พระพุทธองค์ก็ไม่สามารถแสดงธรรมพูดคุยได้ด้วย ถ้าสูงไปกว่านี้คือนิพพาน มีใครสามารถพูดคุยกับพระอรหันต์ในแดนนิพพานได้

     ๒.พระวังคีสเถระ เรียนมนต์พิเศษอย่างหนึ่งชื่อว่า ฉวสีสมนต์ ซึ่งเป็นมนต์ที่พิสูจน์ศีรษะซากศพมนุษย์แม้ตายไปแล้วถึง ๓๐ ปี โดยใช้นิ้วเคาะหรือดีดที่หัวกะโหลก ก็จะรู้ได้ในทันทีว่าเจ้าของกะโหลกนั้นตายแล้วไปเกิดเป็นอะไรอยู่ที่ไหน
      ครั้งหนึ่งมีการโต้เถียงกันระหว่างสาวกของพระวังคีสและพุทธบริษัทิ ว่าใครจะรู้มากว่ากัน ก็เลยพากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงทราบวัตถุประสงค์ของพระวังคีสแล้ว มีรับสั่งให้นำกะโหลกคนตายมา ๕ กะโหลก
   - กะโหลกคนที่ตายแล้วไปเกิดในนรก
   - กะโหลกคนที่ตายแล้วไปเกิดในสวรรค์
   - กะโหลกคนที่ตายแล้วไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
   - กะโหลกคนที่ตายแล้วไปเกิดเป็นมนุษย์
   - กะโหลกของพระอรหันต์
     เมื่อได้กะโหลกมาครบแล้ว ได้ส่งให้วังคีสตรวจสอบดูว่าเจ้าของกะโหลกเหล่านั้นไปเกิดที่ไหนกันบ้าง วังคีสได้ตรวจสอบสถานที่ไปเกิดของ กะโหลกทั้ง ๔ ได้ถูกต้อง แต่พอมากะโหลกสุดท้าย เขาไม่สามารถตรวจสอบรู้ได้เลยว่าเจ้าของกะโหลกไปเกิดที่ไหน ไม่มีเสียงตอบจากกะโหลกว่าไปเกิดที่ไหน พระพุทธองค์ตรัสถามวังคีสว่า รู้หรือไม่ วังคีสว่าไม่รู้ พระพุทธองค์ตรัสว่าตถาคตรู้ ดังนั้นวังคีสจึงยอมแพ้ต่อพระพุทธองค์ และกราบทูลขอเรียนมนต์นั้น

     ข้อพิจารณา เก่งรู้ทุกอย่างว่าคนตายแล้วไปเกิดที่ไหน แต่ไม่สามารถรู้ที่อยู่ของพระอรหันต์ แดนนิพพานหรือแดนอรหันต์ ไม่มีเสียงตอบด้วยว่าอาตมาอยู่แดนนิพพานนะ

     ๓.นิพพานปัญหา ที่ปริพาชกชื่อชัมพุกขาทกะเป็นผู้ถาม ท่านพระสารีบุตรเป็นผู้ตอบ
        ช. ที่ว่านิพพานๆ ดังนี้ นิพพานเป็นไฉนหนอ
        ส. ความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ เรียกว่านิพพาน
        ช. มรรคมีอยู่หรือ
        ส. มีอยู่คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ฯลฯ

     ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ความสิ้น ราคะ โทสะ โมหะ นี้เรียกว่านิพพาน ฯลฯ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นมรรคาเป็นปฏิปทา เพื่อกระทำนิพพานนั้นให้แจ้ง (นิพพานปัญหาสูตร ๖-๔๒๖) ดูก่อนภิกษุทั้งหลายโพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว ฯลฯ เพื่อนิพพาน (นิพพานสูตร ๓-๑๕) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการ คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุและอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันต์ขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์หลุดพ้นแล้วเพราะความรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ ความสิ้นไปแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุนั้นเราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ภิกษุเป็นพระอรหันต์ขีณาสพจบพรหมจรรย์ เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้ของภิกษุนั้นเป็นธรรมชาติอันกิเลสทั้งหลาย มีตัณหาเป็นต้น ให้เพลิดเพลินมิได้แล้ว นี้เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ (ธาตุ ๕-๒๖๐) ดูก่อนพราหมณ์แม้ด้วยเหตุผลดังนี้แล นิพพานย่อมคุณชาติอันผู้บรรลุพึงเห็นเอง (นิพพานสูตร ๗-๒๘๓)

     ๔. พระอุปคุต   ครั้งที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓ โดยพระเจ้าอโศกทรงมีรับสั่งให้พระโมคคลีบุตรติสสเถระเป็นผู้จัดการนั้น ได้มีการอัญเชิญพระอุปคุตให้มาดูแลป้องกันไม่ให้พญามารมารังควานในงานพิธีทำสังคายนาพระไตรปิฎก เรื่องก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อพญามารถูกพระอุปคุตจับทรมานจนละพยศแล้ว พระอุปคุตขอร้องให้พญามารเนรมิตกายให้เหมือนพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้ชมบุญบารมี (สวรรค์ ชั้นที่ ๖)
     พระอุปคุตเป็นพระอรหันต์มีฤทธิ์มากไม่สามารถไปตามหาพระพุทธเจ้าที่แดนนิพพานได้
     ๕. มิลินทปัญหา
ปัญหาที่ ๑๐ ถามเรื่องที่อยู่ของพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพาน
 ม. ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ
 น. ขอถวายพระพร มีจริง
 ม. พระผู้เป็นเจ้าอาจชี้ได้หรือไม่ว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน
 น. ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยการดับขันธ์    แล้ว ไม่อาจชี้ได้ว่าอยู่ที่ไหน
 ม. ขอนิมนต์อุปมาด้วย
 น. ขอถวายพระพร เปลวไฟที่ดับไปแล้วมหาบพิตรอาจชี้   ได้หรือไม่ว่า เปลวไฟนั้นไปอยู่        ที่ไหน
 ม.ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า เพราะเปลวไฟนั้นถึงซึ่งความไม่มีบัญญติแล้ว
 น.ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็ไม่มีใครอาจชี้ได้ว่าไปอยู่ที่ไหน อาจชี้ได้เพียง พระธรรมกาย ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
 ม. พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้สมควรแล้ว


     ชาวพุทธส่วนใหญ่อยากไปนิพพาน
     มีนักปฏิบัติธรรมจำนวนมากบอกว่าอยากไปนิพพาน ชาตินี้ขอเป็นชาติสุดท้าย แต่คนที่พูดส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตแบบชาวบ้าน ยังมีครอบครัวและอยู่กับครอบครัว ปากก็พูดว่าอยากไปนิพพาน บุคคลเหล่านี้ไม่มีความกล้าหาญพอ กลัวลำบาก กลัวร้อน กลัวหนาว กลัวอด ก็เลยยังไปไม่ได้สักที คือสักแต่ว่าพูดแต่ไม่ลงมือทำ
     บุคคลที่จะไปนิพพานต้องเข้าใจโทษของกามว่ามีอะไรบ้าง และผลการออกจากกามได้สถานเดียวก็ต้องออกบวช พระอนาคามีและพระอรหันต์ตัดกามกิเลสได้หมดแล้ว ฉะนั้นคนที่บอกว่าจะไปนิพพานหรือชาตินี้ขอเป็นชาติสุดท้าย ในเบื้องต้นก็ต้องออกบวชก่อน  แต่ถ้ายังกลัวโน่นกลัวนี่อยู่ก็อย่าได้คิดว่าจะไปนิพพานได้

     พระเขมาเถรี เป็นพระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้หลงมัวเมาในรูปโฉมของตัวเอง ไม่กล้าไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพราะเกรงว่าพระพุทธองค์จะแสดงโทษในรูปของพระนาง พระเจ้าพิมพิสารให้พวกนักกวีแต่งบทกวีประพันธ์ความงดงามของพระวิหาร พระนางเขมาได้ได้สดับคำพรรณนาความงดงามของพระวิหารแล้วก็ขอติดตามพระเจ้าพิมพิสารไปยังวิหารด้วย 
     พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นนางแล้ว จึงเนรมิตนางเทพอัปสรนางหนึ่ง ซึ่งกำลังถือพัดก้านใบตาลถวายงานพัดอยู่เบื้องหลังพระพุทธองค์ พระนางเขมาเห็นนางอัปสรแล้วถึงกับตกพระทัยและดำริว่า  แย่แล้วเรา นางอัปสรที่ยืนอยู่ใกล้ๆ พระพุทธองค์ แม้เราจะเป็นหญิงรับใช้ของนาง ก็ยังไม่คู่ควรเลย เพราะเหตุไร เราจึงตกอยู่ในอำนาจจิตคิดหลงมัวเมาอยู่ในรูปเช่นนี้
     ขณะที่พระนางยืนทอดพระเนตรอยู่นั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิษฐานให้นางอัปสรนั้นมีรูปร่างสรีระเปลี่ยนไปจากเลยปฐมวัยย่างเข้าสู่มัชฌิมวัย ล่วงจากมัชฌิมวัยเข้าสู่ปัจฉิมวัย เป็นผู้มีหนังเหี่ยวย่น หย่อนยาน ผมหงอก ฟันหัก แก่หง่อมที่สุดล้มกลิ้งอยู่บนพื้น
     พระนางเขมาเทวี ได้ทอดพระเนตรเห็นนางอัปสรนั้นที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยตลอด จึงดำริว่า ความสวยความงามที่เห็นปานนี้ยังถึงความวิบัติได้ขนาดนี้ แม้ร่างกายของเราก็ไม่พ้นวิสัยอย่างนี้เช่นกัน
     พระพุทธองค์จึงได้ตรัสพระคาถาภาษิตว่า
 "ชนเหล่าใดถูกราคะย้อมแล้วย่อมตกไปในกระแสแห่งราคะ  เหมือนแมลงมุมตกไปในข่ายใยที่ตนทำเอง   เมื่อชนเหล่านั้นตัดกระแสนั้นได้ โดยไม่มีเยื่อใยแล้วละกามสุขเสียได้ ย่อมออกบวช “

   เมื่อจบพระพุทธดำรัสแล้ว พระนางเขมาเทวี ได้บรรลุพระอรหันต์ผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ในอิริยาบทที่ประทับยืนนั้นเอง
     ฆราวาสที่สำเร็จอรหันต์อยู่ได้ไม่นาน
     ธรรมดาผู้ครองเรือน เมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้วจำต้องนิพพานหรือไม่ก็ต้องบวชในวันนั้น  เพราะเพศฆราวาสไม่สามารถรองรับความเป็นพระอรหันต์ได้ และหรือคนทั้งหลายที่ไม่รู้อาจจะปรามาสท่านในทางไม่ดี อันเป็นอกุศลกรรมแก่ผู้นั้น มีบาปมาก แต่พระนางรู้ดีว่าอายุสังขารของพระนางยังเป็นไปได้ จึงรีบเสด็จกลับพระราชวังเพื่อให้พระเจ้าพิมพิสารพระสวามีทรงอนุญาตให้พระนางออกบวชได้
     ใครอยากจะไปนิพพาน ลองพิจารณาภาษิตที่พระพุทธเจ้ามีพุทธดำรัสไว้ในข้างต้น  แต่ถ้าเห็นว่ายังไม่ไหว ยังไม่กล้าหรือไม่พร้อม ก็พิจารณาภาษิตที่พระอัสสชิทรงแสดงต่อพระสารีบุตรว่า
   “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา “
    ลองพิจารณาตรงนี้อาจจะสำเร็จพระโสดาบันก็ได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ก็อ่านบทความทั้งหมดที่ผมได้เขียนไว้และค่อยๆพิจารณาตาม แต่ถ้ายังไม่ได้อีกก็ต้องมานั่งปฏิบัติจริงจังกับผมแล้วล่ะนะ แต่ก็อย่าคิดว่าจะได้ทั้งหมด เพราะทุกสิ่งอย่างย่อมมีเหตุปัจจัยของมันเอง
นิพพานธาตุ  มิลินทปัญหา
     

ไม่มีความคิดเห็น: