วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บทที่ ๒๐ นิพพานด้วยปัญญา (๔) วิธีดับกรรม

       วิธีดับกรรมแบบพระพุทธเจ้า ทำบุญแต่ได้บาป กรรมเก่ากรรมใหม่

ทำบุญแต่ได้บาป
มีอยู่หลายวัดที่จัดงานการกุศล  และมีการแลกเหรียญทองคือเหรียญ ๒๕ และ เหรียญ ๕๐ สตางค์  เพื่อนำไปใส่บาตรพระประจำวัน  บางทีก็จะมีการประชาสัมพันธ์นำเหรียญทองใส่บาตรพระประจำวันช่วยในการสะเดาะเคราะห์  แก้ทุกข์แก้โศกและต่อชะตาให้กับตัวเอง  น่าไม่อายจริงๆสำหรับผู้ที่ริเริ่มและวัดที่ทำตาม  ถ้าวัดไหนทำก็ขอให้พึงรู้ได้เลยว่า  เจ้าอาวาสวัดนั้นยังไม่เข้าใจธรรมอันแจ่มแจ้ง  ยังไม่ใช่อริยะสาวก  เพราะการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาไม่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา  เรื่องนี้เป็นเหตุสำคัญ  และการนำเงินทองไปใส่บาตรก็เท่ากับลบหลู่พระพุทธเจ้าโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อันนี้หนักมาก  ผู้ศึกษาธรรมหรือพระทุกรูปน่าจะรู้ดี  อ่านต่อไปอีกนิดจะเข้าใจยิ่งขึ้น
และถ้าถามว่าที่ใส่บาตรด้วยเหรียญทองนั้นจะได้อะไร  ถ้าตั้งความปรารถนาเพื่อเป็นพุทธบูชา  เมื่อแตกกายตายไป  มีอานิสงส์ทำให้ได้ไปเกิดบนสวรรค์มีวิมานของตัวเอง  เหรียญทองทั้งหลายก็เป็นเพียงเครื่องประดับที่ไปติดอยู่ตามวิมานนั้น  เหมือนกับการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้และเครื่องหอม  ธงหรือเครื่องประดับอื่นๆ  ส่วนการที่จะอยู่บนสวรรค์ชั้นไหนนั้นก็อยู่ที่มีศีลบริสุทธิ์แค่ไหน  ทำบุญเพื่อจุดประสงค์อะไร  ถ้าถวายเหรียญเพื่อหล่อพระอานิสงส์ที่ได้ก็อีกอย่างหนึ่ง  เมื่อยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ก็มีโอกาสได้พบกับพระพุทธศาสนา แต่ถ้าตั้งความปรารถนาเป็นอย่างอื่นก็เท่ากับลบหลู่พระพุทธเจ้า  เหมือนกับเรารู้ว่าผู้ใหญ่ท่านนี้ไม่ชอบทุเรียน แล้วเรายังจะนำทุเรียนไปให้ท่านอีก
มาดูจุดประสงค์ที่สำคัญของการถวายเหรียญทองเพื่อเป็นพุทธบูชา  ดังนั้นเหรียญทองทั้งหมดก็ควรที่จะนำไปหล่อเป็นพระพุทธรูป  แต่วัดโดยทั่วไปจะมีบริการให้แลกเหรียญ  เพื่อใส่บาตรพระประจำวัน แล้วก็นำเหรียญกลับมาให้แลกใหม่  เหมือนดอกไม้ของวัดทั่วไป  เงินที่ชาวบ้านมาแลก  นำไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง  ถ้าไปใช้เรื่องอื่นจะผิดวัตถุประสงค์หรือไม่  อีกนัยหนึ่งคือชาวบ้านรู้เองว่าเป็นเงินทำบุญ  ทางวัดจะไปใช้ประโยชน์ทางบุญอะไรก็ได้ แต่ความเป็นจริงส่วนใหญ่ทางวัดไม่ได้นำเหรียญทองนั้นไปหล่อพระพุทธรูป  จุดประสงค์จริงๆคือเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาโดยความเข้าใจของผู้กระทำที่มีการบอกต่อๆกันมา
มีชาวบ้านตำบลนี้เมืองหนึ่งได้รับความเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือด่วน  และมีการบริจาคสิ่งของเครื่องใช้เครื่องอุปโภคบริโภค  เมื่อรวบรวมสิ่งของที่จำเป็นได้มากพอแล้ว  ก็นำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านแต่ไปผิดหมู่บ้าน  ไปให้หมู่บ้านที่เคยได้รับการช่วยเหลือหรือหมู่บ้านที่ได้รับความเดือดร้อนน้อยกว่า  ทำให้หมู่บ้านที่กำลังรอรับการช่วยเหลืออยู่มีทั้งคนเจ็บและคนตาย  อย่างนี้จะเป็นบุญหรือบาป  เป็นบุญเพราะได้แจกทาน เป็นบาปเพราะทำให้คนตาย
ทานในทักขิไณยบุคคลที่ให้ผลต่างกัน  เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วทางวัดจะมาบอกว่าทำบุญอะไรก็ได้เหมือนกันเป็นบุญหมดหรือ  ในเมื่ออานิสงส์ต่างกัน
ถ้าทำไปโดยการประสงค์อื่นที่ไม่ได้เป็นพุทธบูชา  ก็เป็นการเอาพระพุทธเจ้ามาขาย  คือเอาพระพุทธเจ้ามาหาเงิน  อย่างนี้ยิ่งเป็นการลบหลู่พระพุทธเจ้าหนักเข้าไปใหญ่  พระที่ไม่มีปัญญาก็จะมองอะไรแคบๆ  เห็นว่าการทำอย่างนี้จะช่วยให้วัดมีรายได้  การกระทำผิดที่คิดว่าถูกจึงทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้หาที่สุดมิได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น การที่นำเงินไปถวายพระประจำวันซึ่งเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า  เป็นการขัดกับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะไม่เป็นการลบหลู่พระพุทธเจ้าหรือพระธรรมได้อย่างไรกัน  พระปุถุชนทั้งหลายมุ่งแสวงหารายได้เข้าวัดโดยอาศัยศรัทธาของประชาชน  ที่เป็นการลบหลู่พระศาสนาด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เรื่องบางเรื่องก็ดูเหมือนว่าจะถูกต้อง  แต่ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาให้ดีก็จะรู้ว่าผิด   ในหลายๆเรื่องที่ข้าพเจ้านำมาเขียนนั้น  เพื่อให้ผู้อ่านได้เกิดปัญญาแล้วไม่หลงผิดในสิ่งที่เขาบอกตามกันมาหรือทำตามกันมา และจะได้เข้าใจเพื่อจะได้ละสังโยชน์ข้อที่ ๓ ให้ละเอียดขึ้น  อันเป็นหนทางในการปิดประตูนรกต่อไป
ดังนั้นพระที่กล่าวว่าเดินเหยียบดินบ้าง  ใช้ธูปบ้าง  โดยเฉพาะการใช้ธูปที่วางอยู่เป็นการลักขโมยว่าไปอย่างนั้น  ต้องชำระหนี้สงฆ์ซะ  จะได้ไม่มีบาป  น่าไม่อายจริงๆ  แม้การใส่บาตรพระประจำวันก็ทำตามกันมาผิดๆ  ตกนรกคนเดียวไม่พอยังพาคนอื่นตกนรกด้วย  น่าสงสารผู้คนทั้งหลายที่ทำบุญโดยขาดปัญญา เชื่อเพราะทำตามกันมานั้นแหละจึงพากันตกนรก
พระขี่ตู่  พระที่ชอบตู่เรื่องบุญ  บางทีก็กล่าวอ้างว่ามีนิมิตเป็นพระมาบอก มีนิมิตอื่นๆก็มีให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อที่จะลดกรรมแก้กรรมทั้งในอดีตชาติและปัจจุบันชาติ  ผู้ที่ไม่ได้พิจารณาหรือขาดปัญญาในทางธรรมก็มักจะทำตามเรื่องที่พระขี่ตู่ได้กล่าวอ้างให้เกิดความกระตือรือร้นที่อยากจะทำบุญ  เพื่อให้ได้ผลตามที่กล่าวอ้าง  โดยเฉพาะเรื่องการแก้กรรมลดกรรม  จะด้วยวิธีสร้างถาวรวัตถุต่างๆในพระพุทธศาสนาอย่างการสร้างพระหรือการปฏิบัติด้วยการสวดมนต์ภาวนา  อย่างในตอนต้นที่พูดถึงการชำระหนี้สงฆ์โดยการบริจาคเงินใส่ตามตู้รับบริจาคของทางวัดที่เขียนไว้ว่าชำระหนี้สงฆ์  ทั้งหมดเป็นการกล่าวอ้างทั้งนั้น  บุญส่วนบุญบาปส่วนบาป  บาปที่ทำไปแล้วไม่มีวิธีใดๆมาลบล้างได้ตัวอย่างก็มีบอกไว้แล้วหลายเรื่อง  บุคคลที่ทำตามพระขี่ตู่ยังขาดปัญญาในการพิจารณาอย่างจริงจัง  สิ่งที่คนทั้งหลายทำไปนั้นก็ได้บุญในระดับหนึ่งแต่ไม่ได้อย่างที่กล่าวอ้าง  มีบ้างที่มีการกล่าวอ้างว่าสร้างพระประธานแล้วอธิษฐานปรารถนาพุทธภูมิก็ยังได้  เรื่องความปรารถนาพุทธภูมิก็เขียนอธิบายไว้แล้วเรื่องของสุเมธดาบสกับคุณลักษณะพิเศษของความเป็นพระพุทธเจ้า

กรรมคืออะไร  อะไรเป็นเหตุแห่งกรรม  จะดับกรรมด้วยวิธีใด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม  บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วย กาย วาจา ใจ  ก็เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉนคือผัสสะ(การกระทบกันระหว่างตากับรูป  หูกับเสียง เป็นต้น) เป็นเหตุเกิดแห่งกรรม  ก็ความแตกต่างแห่งกรรมเป็นไฉน  คือกรรมที่ให้ไปเกิดในนรกก็มี  กรรมที่ให้ไปเกิดในสัตว์เดรัจฉานก็มี ให้ไปเกิดในเปรตวิสัยก็มี  ให้ไปเกิดในมนุษย์ก็มี  ให้ไปเกิดในเทวโลกก็มี  นี้เรียกว่าความแตกต่างแห่งกรรม  ก็วิบากกรรมนั้นเป็นไฉน คือเราย่อมกล่าวว่าวิบากแห่งกรรมมี ๓ประการคือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน ๑  กรรมที่ให้ผลในภพที่เกิด ๑  กรรมที่ให้ผลในภพต่อไป ๑  นี้เรียกว่าวิบากแห่งกรรม  ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน  คือความดับแห่งกรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ  มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘  เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม  ก็เมื่อใดอริยสาวกย่อมทราบชัด  กรรม  เหตุเกิดแต่กรรม  ความต่างแห่งกรรม  วิบากแห่งกรรม  ความดับแห่งกรรม  ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมอย่างนี้  เมื่อนั้นอริยสาวกย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งความชำแรกกิเลสเป็นที่ดับกรรมนี้  (นิพเพธิกสูตร  ฉ.อ. ๓๓๔ )
กรรม    กรรมที่กระทำทางกาย  ทางวาจาและทางใจ  ดูก่อนราหุล  เธอปรารถนาจะทำกรรมด้วยกาย  กายกรรรมนั้นเธอพึงพิจารณาเสียก่อนว่ากรรมของเรานี้พึงเป็นไป  เพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง  เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง  เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นบ้าง  กายกรรมนี้เป็นอกุศลมีทุกข์เป็นกำไร  มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ   กรรมเห็นปานนี้เธอไม่พึงทำด้วยกาย  ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า  กรรมของเรานี้  ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น  กรรมนี้เป็นกุศล  มีสุขเป็นกำไร   กรรมเห็นปานนี้เธอพึงทำ  แม้กำลังทำ หรือทำแล้ว  ก็พึงพิจารณาเช่นเดียวกัน  การที่ทำด้วยวาจาและใจก็พิจารณาเช่นเดียวกัน ( จูฬราหุโลวาทสูตร  ๖-๘๖ )

กรรมเก่ากรรมใหม่   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   เราจักแสดงกรรมทั้งใหม่และเก่า  ความดับแห่งกรรมและปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับแห่งกรรม  ก็กรรมเก่าเป็นไฉน  จักษุ  หู  จมูก  เป็นต้น  บัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่าอันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว  สำเร็จด้วยเจตนา  เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา  กรรมใหม่เป็นไฉน   คือกรรมที่บุคคลทำด้วยกายวาจาใจในบัดนี้  ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน  คือ  นิโรธที่ถูกต้องด้วยวิมุติเพราะความดับแห่งกรรม  ก็ปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับแห่งกรรมเป็นไฉน  คืออริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฐิเป็นต้น  (กรรมสูตร  ๒-๓๓๓ )

พระพุทธเจ้าตรัสถึงการดับกรรมด้วยอริยมรรคมีองค์๘  ไม่เคยตรัสว่ามีวิธีอื่นใดจะตัดกรรมลดกรรมได้  ไม่ว่าคุณจะสร้างถาวรวัตถุมากมายขนาดไหนก็ไม่สามารถพ้นกรรมไปได้  และพระพุทธเจ้าก็ไม่รับรองการกำหนดภพชาติของคนเหล่านั้น  นอกจากพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป  เพราะพระโสดาบันดับเหตุและปัจจัยที่จะไปเกิดในอบายภูมิทั้ง๔แล้ว  โดยตัดสังโยชน์เครื่องร้อยรัดเบื้องต้นทั้ง๓ได้เด็ดขาด  ต่างกับผู้ที่ถือศีลห้าที่ยังเป็นปุถุชนอยู่เมื่อมีเหตุและปัจจัยก็สามารถล่วงละเมิดศีลได้
ขยายความเรื่องของกรรม   กรรมถือเจตนาเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับพระองคุลีมาลที่กล่าวว่า  ตั้งแต่เราเกิดมาแล้วในอริยะชาติ  เราไม่มีความรู้สึกว่าจะแกล้งปลงชีวิตสัตว์ทั้งที่รู้อยู่หามิได้  หมายถึงชาติปัจจุบันที่จะได้เป็นพระอริยะ  แม้แต่ชาติก่อนๆนั้นก็ไม่ได้มีเจตนา (รายละเอียดเขียนไว้ในวิธีปิดประตูนรก )  กรรมที่เกิดขึ้นโดย ๓  ทาง คือทางกาย ๓  ทางวาจา ๔  ทางใจ ๓  ที่เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ 
ทางกาย    อย่าง
๑.     ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ผิดศีล  ปานาติปาต
๒.     ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้  ผิดศีล  อทินนาทาน
๓.     ประพฤติผิดในลูกเมียผู้อื่น  ผิดศีล  กาเมสุมิจฉาจาร
          ทางวาจา  ๔ อย่าง
๔.     พูดเท็จ   ผิดศีล   มุสาวาท
๕.    พูดส่อเสียด   ผิดศีลมุสาวาท  ( ปิสุณาย  วาจาย  )
๖.      พูดคำหยาบ   ผิดศีลมุสาวาท  ( ผรุสาย  วาจาย )
๗.     พูดเพ้อเจ้อ   ผิดศีลมุสาวาท  (สัมผัปปลาปา )
ทางใจ    อย่าง
๘.     มีใจโลภอยากได้ของผู้อื่น   นภิชฌา
๙.       คิดแค้นพยาบาทผู้อื่น   พยาบาท
๑๐.   เห็นผิดเป็นชอบ   มิจฉาทิฐิ
เหตุที่ทำให้เกิดกรรมเพราะตาไปกระทบรูป  หูไปได้ยินเสียง  จมูกไปได้กลิ่น  ลิ้นไปได้ลิ้มรส  กายไปได้สัมผัส  ใจไปปรุงแต่ง   ทำให้เกิดความโลภอยากได้  เมื่อไม่ได้ตามต้องการก็โกรธ  ที่โกรธก็เพราะหลง  คน  สัตว์  สิ่งของนั้นๆเป็นของเรา  หรือเคยเป็นของเรา  ใครจะมาแย่งชิงไม่ได้  ที่สุดก็มีการป้องกัน  แย่งชิง  เข่นฆ่า ฯลฯ  ล้วนสร้างวิบากกรรมให้ไปเกิดในอบายภูมิ  เวียนว่ายตายเกิดนับชาติไม่ถ้วน  ซึ่งผลของวิบากกรรมให้ผลทั้งในปัจจุบัน   ให้ผลในภพที่เกิดใหม่  และให้ผลในภพต่อๆไป  แล้ววิบากกรรมทั้งหลายจะดับด้วยวิธีใด  ก็ต้องดับด้วยมรรคมีองค์๘  เริ่มจากความเห็นถูกว่า อริยสัจ ๔ เป็นหนทางพ้นทุกข์ คือเห็นว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่และความตายเป็นทุกข์  การพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจเป็นทุกข์  การประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจเป็นทุกข์   การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์  อย่างนี้เป็นต้น  ฉะนั้นการที่จะลดกรรมตัดกรรมได้ต้องเริ่มจากรักษาศีล ๕ ให้ได้เสียก่อน คือละบาปทั้งปวง  แม้จะสร้างบุญมากมายแค่ไหนแต่ถ้ายังละบาปไม่ได้ก็ไม่สามารถพ้นนรกไปได้แน่นอน  จึงมีการกล่าวอ้างกันมากมายว่าทำอย่างนี้เป็นบุญสามารถลดกรรมตัดเวรได้    ผมได้หาเหตุและผลมาเขียนไว้เพื่อให้ผู้อ่านได้ใช้ปัญญาพิจารณาว่าสิ่งใดควรเชื่อสิ่งใดควรทำตาม  แต่ละเรื่องที่เขียนลงในไปในบทความและคู่มือปิดประตูนรกนั้น ผมเห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังคิดและทำอย่างที่เขียนเอาไว้  โดยความเห็นผิดตามๆกันมา  ผมหวังที่จะชี้ทางสว่างให้  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่การสร้างสมบุญบารมีของแต่ละบุคคล  เพราะอริยะเจ้าทั้งหลายต้องสร้างบุญบารมี อย่างน้อยหนึ่งแสนมหากัป  แล้วกัปหนึ่งนานแค่ไหน ไม่สามารถนับได้  ( ดูบทที่ ๑๒ สงสาร กัปหนึ่ง))
การยอมรับสภาพกรรม   ที่บุคคลเกิดมาย่อมมีกรรมเป็นของตนเอง  เพราะความที่เราเกิดมานับชาติไม่ถ้วน  เราไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าเราสร้างกรรมอะไรไว้บ้าง  บางคนเกิดมาไม่เคยสร้างเวรกรรมอะไรไว้เลยแต่ต้องได้รับความลำบากยากแค้น  บางคนทำกรรมไว้มากมายแต่ยังเสวยสุขอยู่ได้   เพราะเราไม่รู้ว่ากรรมดีหรือกรรมเลวอันไหนจะส่งผลก่อนกัน  แต่ถ้าเราเข้าใจหลักธรรมก็จะรู้ได้เลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพราะวิบากแห่งกรรม  เราไม่ต้องสงสัยอะไรเลย  ไม่ต้องไปอยากรู้ว่าชาติที่แล้วได้สร้างกรรมเวรอะไรไว้บ้าง  มันเป็นเรื่องของอจินไตย  ผู้ปฏิบัติธรรมแท้ไม่สงสัยและยอมรับสภาพของกรรมนั้น  แต่ผู้ปฏิบัติเทียมมีแต่ความสงสัย ก็เลยไม่สามารถตัดสังโยชน์ตัววิจิกิจฉาลงได้   พระเจ้าอชาตศัตรู  ทรงสารภาพความจริงว่า  พระองค์ได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรมเพราะปรารถนาความเป็นใหญ่  ด้วยเป็นคนเขลา  คนหลง  ไม่ฉลาด  แต่เพราะพระองค์ทรงเห็นความผิดโดยความผิดจริงแล้ว  พระพุทธเจ้าตรัสว่าบุคคลเห็นความผิดโดยความเป็นจริงแล้วสารภาพตามเป็นจริงรับสังวรต่อไปนี้เป็นวัฒนธรรมในวินัยของพระอริยะ  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชาองค์นี้ถูกขุดเสียแล้ว  ถูกขจัดเสียแล้ว  หากท้าวเธอจักไม่ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม  ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีจักเกิดแก่ท้าวเธอ    ที่ประทับนี้ทีเดียว
อันนี้ให้มองเห็นสภาพความเป็นจริง  ถ้าพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ได้ทำปิตุฆาตพระบิดา  ขณะที่ฟังธรรมอยู่กับพระพุทธเจ้า  พระองค์ก็จะสำเร็จอริยะบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งเป็นแน่  ฉนั้นผู้ปฏิธรรมจึงยอมรับสภาพความเป็นจริงที่เกิด  ถ้าเราไม่เคยสร้างกรรมนั้น ๆไว้  กรรมนั้นก็ไม่ตกแก่เรา   แต่ถ้าเราเคยสร้างกรรมนั้น ๆไว้  เราจะไม่ปฏิเสธผลของกรรมนั้น
การชำระหนี้สงฆ์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโคคือ ก่อนเข้าพรรษาหลวงพ่อปานจะนำเงินจำนวนหนึ่ง ๕๐๐ บาทบ้าง ๑๐๐๐ บาท บ้างไปชำระหนี้สงฆ์โดยกล่าวขออนุญาตต่อที่ประชุมสงฆ์ว่าผมขอชำระหนี้ให้แก่สงฆ์เป็นจำนวนเงิน ๑,๐๐๐ บาท  สำหรับผลไม้ ดอกไม้ที่ชาวบ้านและเด็กๆได้นำไปกินไปใช้ทั้งหมดจะได้ไม่เกิดโทษกับพวกเขาทั้งหลาย  แล้วพระสงฆ์ก็กล่าวคำว่าสาธุ  พอครบปีท่านก็จะทำอย่างนี้อีก  นี่เป็นการชำระหนี้สงฆ์ของหลวงพ่อปานโดยดับเหตุเสียก่อน  ไม่ใช่เหตุเกิดแล้วค่อยมาชำระ อย่างนี้เรียกว่าป้องกันไว้ก่อ น  เหมือนไฟที่ไหม้บ้านหมดไปแล้วจะมาแก้ไขก็ไม่ทัน  เราต้องมาหาเหตุว่าเกิดไฟไหม้เพราะอะไร  ถ้าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรบ้านสร้างมาหลายสิบปีแล้ว  สายไฟฟ้าในบ้านเริ่มกรอบยุ่ยก็สมควรที่จะเปลี่ยนได้แล้วคือดับที่เหตุเสียก่อน  หรือคนที่ไปฆ่าคนอื่นตายบ้าง ไปทำร้ายร่างกายเขาบ้างแล้วไปติดสินบนไม่ให้เจ้าหน้าที่จับไปลงโทษ  หรือเกิดคดีความต่างๆแล้วติดสินบนล้มคดี  การทำอย่างนี่อาจจะไม่ติดคุกติดตารางแต่กรรมที่ทำเอาไว้ไม่ได้หมดไปด้วย  กรรมข้ามภพข้ามชาติหรือหลายๆชาติอย่างพระโมคคลานะ  ฉนั้นการสร้างพระหรือสร้างโบสถ์วิหารใดๆหรือแม้แต่การไหว้พระสวดมนต์อธิษฐานขอให้หมดเวรหมดกรรมก็ไม่เป็นผล  จะลดกรรมได้คือไม่ก่อกรรมใหม่เพิ่ม  อกุศลกรรมที่เคยทำอยู่ก็ให้ละเสีย  กุศลกรรมใดๆที่ไม่เคยทำก็ให้ทำเสีย  กศุลกรรมใดๆที่เคยทำแล้วก็ทำให้ยิ่งๆขึ้นไป  อย่างนี้จึงจะถูกหลักพระพุทธศาสนา    

กรรมบางอย่างที่ทำกับพระภิกษุก็ต้องไปขอขมาต่อท่านให้ท่านงดโทษเสีย  ก็พอได้  ทั้งนี้อยู่ที่กรรมหนักกรรมเบา  กรรมบางอย่างก็อโหสิกรรมได้บางอย่างก็ไม่ได้
สมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่  ผู้ที่รู้ตัวว่าทำบาปหรือล่วงละเมิดพระวินัย  ก็ไปสำนึกผิดต่อพระพุทธองค์และให้พระองค์งดโทษเสีย  ปัจจุบันพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานนานแล้วจะไปสำนึกผิดอย่างไร  ก็ต้องอยู่ที่ตัวเราเอง  สำนึกเอง จุดธูปบอกกล่าวกับพระพุทธรูปในโบสถ์ก็ได้และให้สัจจะว่าจะไม่กระทำผิดใดๆอีก  ก็เป็นการบรรเทาได้ส่วนหนึ่ง  เพราะอย่างที่บอกไว้บุญส่วนบุญ  บาปส่วนบาปไม่มีอะไรมาลบล้างได้  นอกจากทำบุญให้มากๆจนบาปตามไม่ทันหรือเป็นอโหสิกรรมไป  ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่ทำกรรมอะไรไว้
ชาวบ้านที่นำเงินใส่บาตรพระ  เป็นผู้กระทำให้ศาสนาเสื่อมเองโดยไม่รู้ตัว  รู้แล้วก็หาซองใส่ให้เรียบร้อย  เขียนที่หน้าซองถวายปัจจัยเพื่อค่าน้ำหรือค่าไฟ  ถวายเงินใส่บาตรทำมากและบ่อยเข้า ทำให้พระละกิเลสได้อยาก  เคยได้ยินพระท่านพูดว่า  พระแถวนั้นแถวนี้เดินบิณฑบาตซะจีวรปลิวเลยเพื่อแย่งกันไปเอาปัจจัยที่โยมกำลังจะใส่บาตร  นั่นเองชาวบ้านผู้มีส่วนทำให้ศาสนาเสื่อม
เรื่องของเงินเป็นเหตุนั้นมีมากแก้ไขก็ลำบาก  ทั้งพระและชาวบ้านต้องช่วยกัน  แต่พิจารณาแล้ว  ยากอย่างยิ่ง  พระส่วนใหญ่ก็เป็นปุถุชนอยู่  อย่างสมัยก่อนมีพระที่สำเร็จอรหันต์มากและเป็นผู้ที่ทรงพระไตรปิฎกอย่างแท้จริง  แม้การทำสังคายนาพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ครั้ง ที่ผ่านมาก็ล้วนแต่ผู้ที่สำเร็จอรหันต์ทั้งนั้น
เบญจกามคุณกับเงินทอง  ดีละนายคามณี  คำของท่านเป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว  เพราะว่าทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร  สมณศากยบุตรห้ามแก้วและทอง  ปราศจากทองและเงิน  ดูกรนายคามณี  ทองและเงินควรแก่ผู้ใด  เบญจกามคุณควรแก่ผู้นั้น  เบญจกามคุณควรแก่ผู้ใด  ทองและเงินก็ควรแก่ผู้นั้น  (มณีจุฬกสูตร ๖-๔๖๑)
การทำบุญที่ยึดติดกับวัตถุมงคลจะได้บุญสักแค่ไหน  มาพิจารณากันเวลาทำบุญ  คิดอยากได้วัตถุมงคล  ส่วนเงินที่ต้องเช่าวัตถุมงคลไป  วัดจะเอาไปสร้างถาวรวัตถุอะไรก็แล้วแต่ไม่ติดใจอะไร  เพราะต้องการวัตถุมงคลมากกว่า  ส่วนอื่นเป็นผลพลอยได้  อย่างนี้จะได้บุญสักเท่าไหร่  ต้องถามว่าจริงอย่างนี้หรือไม่  ที่คนส่วนใหญ่ที่เช่าวัตถุมงคลไปเพื่อจุดประสงค์อะไร
มีแต่ชาวบ้านที่ไปทำบุญที่วัดแล้วมัคนายกก็จะอธิบายเรื่องบุญเรื่องบาป  และอานิสงส์ของบุญที่ทำ  ตายไปแล้เกิดที่ไหนเป็นอะไร  เรียกว่าอธิบายแทนพระไปเลย  มัคนายกเก่งๆสามารถเชิญชวนชาวบ้านทำบุญกันได้ปัจจัยมากมาย  ที่ชาวบ้านทำบุญด้วยศรัทธาหวังผลความสุขในปัจจุบัน  เมื่อเสียชีวิตหวังเข้าถึงสุคติสวรรค์ในภพภูมิหน้า  และถึงซึ่งนิพพานอันความปรารถนาสูงสุด  ผู้ใดหมั่นทำทานด้วยศรัทธามิได้ขาดพึงหวังผลถึงนิพพานได้  ต้องเข้าใจคำว่าศรัทธาด้วย
ศรัทธา  ความเชื่อ  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  กำลังของเสขบุคคล (ผู้ที่ยังศึกษาอยู่หมายถึงพระโสดาบัน  พระสกทาคมีและพระอนาคามี) ๕ ประการ คือ  ศรัทธา (ในพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์ ) หิริ โอตตัปปะ  วิริยะ และ ปัญญา  (สังขิตตสูตร)  ดูกรสารีบุตร  อริยะสาวกใดมีศรัทธาตั้งมั่น  เลื่อมใสยิ่งในพระตถาคต  พึงหวังข้อนี้ได้ว่าจักเป็นผู้ปรารถนาความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม  เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม  มีกำลัง  มีความบากบั่น  มั่นคง  ไม่ทอดธุระ  ในกุศลธรรมทั้งหลาย  ด้วยวิริยะ  สติและปัญญา  ซึ่งเป็นวิริยินทรีย์  สตินทรีย์  สมาธินทรีย์และปัญญินทรีย์  (สัทธาสูตร ๓-๙๓)
เมื่อก่อนได้ยินแต่มัคทายก  ซึ่งแปลตามศัพท์ก็คือผู้ให้ทาง  ส่วนมรรคนายกหรือมัคนายก คือผู้นำทาง  ผู้จัดการทางกุศล  ผู้ชี้แจงทางบุญ  มคฺค  เป็นบาลี  มรรคเป็นสันสกฤต  ส่วนนายกแปลว่าผู้นำ  ดังนั้นที่ถูกต้องควรใช้มัคนายกหรือมรรคนายก  แต่ชาวบ้านใช้มัคทายกจนติดปากเสียแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: