วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บทที่ ๒๑ นิพพานด้วยปัญญา (๕) วิธีแก้กรรม,อานิสงส์เมตตา

ไหว้พระ ๙วัด
มีการประชาสัมพันธ์ให้ไปทำบุญขอพรพระ ๙วัดภายในวันเดียวจะเป็นมงคลต่อชีวิต  ตายแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์  โดยมีวัดที่มีชื่อเป็นมงคลต่างๆ  มี  ๙วัดในกรุงเทพและ ๙วัดในพระนครศรีอยุธยา  แม้แต่จังหวัดอื่นๆ  ศรัทธาชาวพุทธก็นิยมไปทำบุญกันตามที่เขาจัดโปรแกรมไว้ให้สะดวกที่ไหนไปที่นั่น
ทำบุญแล้วหลงบุญไปยึดติดกับชื่อที่คิดว่าเป็นมงคล  อย่างนี้จึงเป็นเพียงผู้ให้ทานที่เขาเรียกกันว่า ทายกหรือทายิกา  ยังเป็นอุบาสกหรืออุบาสิกาไม่ได้
ถ้าไปไหว้พระ ๙วัด  พระพุทธรูปที่ไหว้เป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้าก็เป็นองค์เดียวกัน คือไปไหว้องค์แทนพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว ๙ ครั้งแต่ต่างสถานที่ต่างเวลากัน และส่วนใหญ่ที่ไปไหว้ทั้ง ๙ วัดก็เน้นที่พระพุทธรูปมากกว่าพระสงฆ์  ไหว้พระแล้วก็ขอพรอธิษฐานขอโน่นขอนี่  ขอทุกอย่างจะได้หรือไม่ก็ไม่รู้  แต่ได้สักอย่างก็ดีแล้วทำให้เกิดกำลังใจอยากจะทำบุญต่อไป
ขอพรพระจากพระพุทธรูปและจากพระสงฆ์  ด้วยการทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งเสร็จแล้วพระก็จะให้พรจะเป็นภาษาบาลีหรือไทยก็ตาม  ท้ายสุดก็จะลงด้วย  อายุ  วัณโณ  สุขัง  พลัง  ขอให้มีอายุยืน  ขอให้มีความสุข อะไรทำนองนั้น  ซึ่งจริงๆแล้วทุกอย่างมันไม่เที่ยงจะไปยึดติดทำไม  พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องความสุข  พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์  เหตุให้เกิดทุกข์  ความดับทุกข์  และวิธีการดับทุกข์  สิ่งใดที่ไปยึดติดเป็นทุกข์  ทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง  ทุกข์เพราะไปบังคับมันไม่ได้  พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้  แล้วพระพุทธเจ้าจะให้พรให้มีอายุยืน ผิวพรรณดีมีความสุขได้อย่างไรกัน  เพราะคนเราไปหลงความสุขที่มันไม่เที่ยงคิดแต่ที่จะทำบุญให้มากๆหวังที่จะไปเกิดบนสวรรค์   สวรรค์นั้นก็ไม่เที่ยง  เพราะสวรรค์ก็มีกำหนดอายุเวลา  เมื่อเสวยบุญหมดแล้วก็ต้องมารับวิบากกรรมตามที่ทำไว้มีอบายภูมิทั้ง ๔ เป็นต้น
ฉะนั้นอย่ามุ่งที่จะทำแต่บุญอย่างเดียวโดยไม่ละบาป  เพราะถ้ายังละบาปไม่ได้ก็ไม่สามารถพ้นนรกไปได้  คนส่วนใหญ่จึงแสวงหาบุญดั้นด้นไปตามคำบอกกล่าวของคนโน้นของคนนี้  ว่ามีสถานที่ศักดิ์  มีพระเก่ง ถ้าได้ไปทำบุญไปกราบไหว้จะทำอะไรก็ประสบความสำเร็จ  บางครั้งก็ไม่ได้พิจารณาก่อนสอบถามเรื่องราวต่างๆให้แน่ชัด  จะได้ไม่เสียเวลาสถานที่ศักดิ์แค่ไหนก็อยู่ที่ตัวเรา  บุญบาปก็เกิดขึ้นจากตัวเราทั้งนั้น  ถ้าเราละบาปได้และถือศีลให้บริสุทธิ์ก็เป็นบุญที่ยิ่งใหญ่แล้วไม่ต้องไปลำบากไปไหนไกลๆ  นอกจากเรารู้แน่ชัดแล้วว่าหนทางที่ลำบากนั้นมีพระอริยะประจำอยู่อย่างนี้ถึงสมควรไป  อย่างเรื่องของนายกุรุเทวะ  (อยู่ในเรื่องทาน)ที่เกิดมาไม่เคยสร้างบุญกรรมอะไรไว้เลย  ก่อนตาย ๗ วันมีพระมาบอกให้เข้าถึงพระรัตนตรัยและสมาทานศีล ๕ ตลอด ๗ วัน  เมื่อจิตของเขาน้อมนำไปในพระรัตนตรัยและถือศีลห้าโดยเคร่งครัดอันเป็นเครื่องป้องกันภัยต่างๆทั้งภพนี้และภพหน้า  เขาได้แบ่งเศษอาหารจากข้าวก้นบาตรพระที่เขาได้รับ  ไปให้ทานกับปลาทั้งหลายในบ่อข้างวัด  เขาทำทานเพียงเท่านั้น  ตายแล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ในบ้านของกุฎุมพีคนหนึ่งและได้เป็นสหายกับพระราชา  ถือศีลห้าและทำทานตลอดชีวิตตายแล้วไปเกิดในเทวโลกมียศและบริวารอันยิ่งใหญ่ กุรุเทวะไม่ได้ไปแสวงบุญไกลที่ไหนเลย  บุญอยู่ที่ตัวเอง  จะละบาปสร้างบุญก็อยู่ที่ตัวเองทั้งนั้น
เรื่องการให้พรพระแม้แต่เรื่องอื่นๆที่ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นในยุคสมัยไหน  ที่ทำตามกันมาจนเป็นประเพณี  ส่วนการทำบุญ ๙ วัด  ก็จะเหมือนเรื่อง ชำระหนี้สงฆ์  ดินติดรองเท้า  ใส่บาตรพระประจำวัน  ล้วนเป็นการกล่าวอ้างเรื่องบุญโดยขาดปัญญา
จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ นะ  เป็นคำแทนคำอวยพรอย่างสูงสุด  ประกอบด้วยเหตุผล  เมื่อทำกรรมดีแล้วไม่ให้พรก็ต้องดีเอง  เมื่อทำชั่วแล้วจะมาเสกสรรปั้นแต่งอวยพรอย่างไรก็ดีไม่ได้  ทำชั่วเหมือนก้อนหินจะต้องจมทันที  ไม่มีผู้วิเศษใด ๆ จะมาเสกเป่าอวยพรขอร้องให้หินลอยขึ้นมาได้  ทำกรรมชั่วต้องล่มจมป่นปี้เสียราศีเกียรติคุณชื่อเสียง  เหมือนก้อนหินหนักจมลงไปอยู่กับโคลนใต้น้ำ   ทำดีเหมือนน้ำมันเบา  เมื่อเทลงน้ำย่อมลอยเป็นประกายมันปลาบอยู่เหนือน้ำ  ทำกรรมดีย่อมเป็นสง่าราศี  มีเกียรติคุณชื่อเสียง  มีแต่คนเคารพนับถือยกย่องบูชา  เฟื่องฟุ้งลอยเหมือนน้ำมันลอย  ถึงจะมีศัตรูหมู่ร้ายจงใจเกลียดชัง  มุ่งร้ายอิจฉาริษยา  แช่งด่าให้จมก็ไม่สามารถจะเป็นไปได้  กลับจะแพ้เป็นภัยแก่ตัว  ขอจงตั้งใจกล้าหาญ  พยายามทำแต่กรรมดี ๆ โดยไม่มีความเกรงกลัวต่ออุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้น  ผู้ที่เลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย  ผู้ที่มีโชคดี  ผู้ที่มีความสุขและผู้ที่มีความเจริญประสงค์ใด  สำเร็จสมประสงค์  ก็คือผู้ที่ประกอบกรรมทำแต่ความดีอย่างเดียวนั่นเอง  (คติธรรม : ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต  วัดเทพศิรินทราวาส )
ทำไมผมจึงให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่ผมเขียนไว้ในบทความทั้งหมด ให้ย้อนไปดูที่ปิดประตูนรกที่เขียนเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด พระบิดาและพระมารดา  ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่แผ่ส่วนบุญไปให้  ไม่อวยพรให้  ของอย่างนี้ใครทำใครได้  คนไหนกินคนนั้นก็อิ่ม  จะมาสวดอ้อนวอนขอพรอยู่ทำไม  รีบเร่งลงมือปฏิบัติ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  จะได้ไม่เสียเวลา
การที่จะมีอายุยืนไม่เจ็บไม่ไข้ก็ต้องไม่เบียดเบียนสัตว์  ถ้ายังต้องมาเกิดอีกอยากให้มีผิวพรรณดีก็พยายามรักษาศีลให้บริสุทธิ์   อยากมั่งมีเงินทองก็ต้องรู้จักให้ทาน  อยากมีปัญญาดีก็ให้ภาวนา
วันหนึ่งมีคนไปทำบุญ ๙ วัด  ใช้เวลาตลอดทั้งวันกลับมาถึงบ้านก็เมื่อยล้าไปหมด  เจอเพื่อนบ้านก็มาเล่าให้ฟังว่าไปทำบุญที่ไหนอย่างไรบ้าง  ส่วนเพื่อนบ้านบอกว่าเมื่อเช้านี้ก็ไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน  เสร็จแล้วก็กลับบ้านทำงานบ้านทุกอย่าง  ขณะที่ทำงานบ้านอยู่นั้นจิตก็ได้คิดถึงบุญที่ตัวเองได้ทำในตอนเช้านับได้ ๙๙ ครั้ง  วัดนี้ฉันสะสมบุญไปได้ ๙๙ ครั้ง  เพราะเจตสิกที่เป็นกุศลได้เกิดร่วมกับจิตที่ฉันนึกถึงบุญของฉันในวันนี้
ทำบุญครั้งเดียวแต่คิดถึงบุญหลายครั้ง  คือคิดเมื่อไหร่บุญนั้นก็เกิดขึ้นทันที  เรื่องนี้เป็นเรื่องของจิตและเจตสิกที่มีสภาพธรรมเกิดขึ้นพร้อมกัน  ซึ่งมีอธิบายอยู่ในพระอภิธรรม
คนเราเวลาก่อนจะตายถ้านึกถึงบุญที่ตัวเองได้ทำเอาไว้  เมื่อแตกกายตายไปแล้วก็จะไปบังเกิดบนสวรรค์  แต่ถ้าไม่นึกถึงบุญที่ทำเอาไว้คิดเป็นห่วงสมบัติห่วงลูกหลานห่วงสารพัดปล่อยวางไม่ได้เมื่อแตกกายตายไปถ้าไม่เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ตกนรก  เหมือนเรื่องของพระติสสะโดยความหวงผ้าต้องไปเกิดเป็นเล็น  ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงห้ามเอาไว้ปล่อยให้ภิกษุมาแย่งผ้ากัน พระติสสะที่เกิดเป็นเล็นอยู่ขณะนั้นจะมีความโกรธตายแล้วก็จะไปเกิดในนรก  เรื่องของพระติสสะจะนำมาเป็นตัวอย่างหลายครั้ง

ปุถุชนก็คือปุถุชน  ย่อมมีความคิดหลากหลายต่างกันไป  ตามกำลังกิเลสของตน  การที่บอกว่าเป็นชาวพุทธแต่ไปนับถือหรือไปเคารพอย่างอื่นมากกว่าพระรัตนตรัย  ส่วนใหญ่เกิดจากความอยากมี  อยากได้  โดยเฉพาะเงิน  เห็นคนอื่นถูกล๊อตเตอรี่บ้าง  ค้าขายร่ำรวยบ้าง  ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆบ้าง  ก็อยากจะได้อย่างเขา  แล้วจำนวนผู้ที่ทำตามเขา  ประสบความสำเร็จอย่างเขาสักกี่เปอร์เซ็นต์กัน  บางคนไม่ประสบความสำเร็จก็โทษนั่นโทษนี่สารพัด  แม้แต่ด่าทอเทวดา   ตำหนิฟ้าดิน
คนจะรวยจะได้  เทวดาจะไปกลั่นแกล้งก็ไม่ได้  บุญของเขาเทวดาไปแกล้งก็จะได้รับผลกรรมทวีคูณ  ไปริษยา  เมื่อจุติจากเทวดาแล้วก็ต้องไปรับกรรม  คนจะจนเทวดาจะไปช่วยให้รวยก็ไม่ได้  เพราะไม่เคยทำทานเอาไว้เลย  หรือแม้แต่พึ่งจะทำทานแล้วจะให้เกิดผลทันทีก็ไม่ได้  เหตุที่จะให้ทานแล้วเกิดผลทันทีในปัจจุบันไม่มีแล้ว
แก้กรรม
มีการพูดถึงวิธีการแก้กรรมอยู่หลายอย่าง  ต่างก็กล่าวอ้างกันไปตามวิธีการของตัวเองว่าได้ผลอย่างไรบ้าง  และยกตัวอย่างของผู้ที่ทำตามแล้วได้ผลขนาดไหนใช้เวลาเท่าไหร่  ซึ่งขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่างกัน
หลักพุทธศาสนาที่แท้จริงไม่มีวิธีการแก้กรรมใด ๆ ทั้งสิ้น  ถึงแม้จะมีพระบางรูปบอกว่าการนั่งกรรมฐานสามารถแก้กรรมได้  โดยมีตัวอย่างของผู้ปฏิบัติแล้วมีความสำเร็จสมหวัง  หรือหลุดพ้นจากกรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้  บางคนก็ใส่บาตรด้วยพระพุทธรูปปางมารวิชัยพร้อมด้วยอาหาร  และกรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวร  ให้จับชายจีวรพระพุทธไปเกิดในสุคติภูมิไม่ต้องมาพยาบาทจองเวรกันและกัน
ผมยังไม่เห็นผู้รู้ท่านใดออกมาเขียนตำราแก้กรรม  โดยยกเอาเรื่องราวในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงผู้ใดมีเคราะห์มีกรรมที่จะต้องแก้และแก้ด้วยวิธีอะไร  ขอยกตัวอย่างของพระวิฑูฑภะที่มีใจเจ็บแค้นต่อชาวกรุงกบิลพัสดุ์ที่ดูถูกเหยียดหยามว่าตัวเองเป็นลูกของไพร่  ไม่ได้มีเชื้อสายของศากยะวงศ์  ซึ่งขณะเดินทางออกจากกรุงกบิลพัสดุ์  พวกหญิงรับใช้ช่วยกันชำระล้างอาสนะที่พระเจ้าวิฑูฑภะนั่งด้วยน้ำนม  เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกสลพระราชบิดาได้สวรรคตลง  พระเจ้าวิฑูฑภะได้ขึ้นครองราชย์แทน  จึงให้ยกทับไปตีเมืองกบิลพัสดุ์เพื่อชำระแค้นให้ได้  พระพุทธเจ้าทรงทราบ  จึงเสด็จออกไปทรงห้ามถึง ๓ ครั้ง  ในที่สุดทรงเห็นกรรมที่เคยกระทำต่อกันมา  จึงปล่อยให้ทั้งสองฝ่ายสู้รบกัน
เรื่องนี้ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่เสด็จไปที่กรุงกบิลพัสดุ์  ทรงโปรดให้นั่งกรรมฐานเพื่อแก้กรรมในครั้งนี้  หรือแม้แต่นั่งแผ่เมตตาให้พระวิฑูฑภะไม่มีใจคิดแค้นอาฆาตพวกเขา  ผู้ที่นั่งกรรมฐานแล้วระยะหนึ่งสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตได้เพราะอะไร ก็ต้องบอกว่าเพราะบุญ  เนื่องจากเวลานั่งกรรมฐานจิตขณะนั้นคิดถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์  ความโลภ โกรธ หลง ในขณะนั้นมีน้อยจิตจึงเป็นกุศลเกิดเป็นผลบุญซึ่งอยู่กับความละเอียดของจิตแต่ละคน มีการกล่าวไว้ว่า ผู้ใดนั่งสมาธิให้จิตสงบชั่วช้างกระดิกหูงูแลบลิ้น  มีอานิสงส์มากกว่าการสร้างเจดีย์ทองเจ็ดชั้น  ผู้ที่นั่งกรรมฐานและพิจารณาต่อไปให้เป็นวิปัสสนาคือที่ตัวเองมานั่งกรรมฐานเพราะอะไร  ถ้าเกิดจากทุกข์ต่างๆ ทุกข์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร  พิจารณาถึงตัวทุกข์ให้มากๆจนรู้ว่า เราไปยึดติดกับสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา  เราบังคับไม่ได้  เพราะมันไม่เที่ยง  การพิจารณาอย่างนี้มีบอกไว้ในแล้วในบทต้นๆ  เมื่อผู้ออกจากกรรมฐานใหม่ๆเราจะสังเกตุเห็นว่าใบหน้าของเขาจะผ่องใสขึ้นกว่าเดิม  แสดงว่าบุญได้เกิดขึ้นกับเขาแล้ว  ขณะนั้นได้มีการอธิษฐานจิตตั้งความปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่งสมควรแก่เหตุแล้วผลบุญนั้นก็จะส่งผลให้เร็วขึ้น  ยังมีเหตุปัจจัยอีกหลายอย่างซึ่งบางคนปฏิบัติมาหลายปียังไม่ได้รับผลบุญที่อธิษฐานเอาไว้  บางคนก็ได้รับผลทันทีและมากกว่าคือไม่ยึดติดในสิ่งที่ไม่เที่ยงไม่ใช่ของเรา  ทำให้เราไม่ต้องไปทุกข์กับสิ่งนั้น   วิธีแก้กรรมให้ย้อนกลับไปดูที่หัวข้อ กรรมคืออะไร   อะไรเป็นเหตุแห่งกรรม  จะดับกรรมด้วยวิธีใด 
พระพุทธเจ้าตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า  ลูกชายของท่านไม่มาทวงถามเรื่องเงินอีกแล้ว  เพราะเขารวยกว่าพระราชาเสียอีก  เหตุที่ท่านอนาถบิณฑิกะต้องการให้ลูกชายสนใจธรรมะไม่ไปเที่ยวเตร่หาประโยชน์อันใดไม่ได้  จึงจ้างลูกชายให้ไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วจะให้เงิน  ครั้งแรกๆไม่ได้ตั้งใจฟัง  ครั้งหลังต้องนำธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงอะไรไว้บ้างมาบอกจึงจะได้เงิน  ที่สุดลูกชายได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล  การที่สำเร็จเป็นพระโสดาบันเป็นอริยะบุคคลชั้นตันแล้ว  เวียนว่ายตายเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติก็สำเร็จพระอรหันต์  ในระหว่างนั้นจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ  ซึ่งต่างจากพระราชาที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ยังดับเหตุที่จะไปเกิดในอบายภูมิไม่ได้  แม้แต่พระโพธิสัตว์ก็ไม่พ้นวิสัยเช่นกัน
กรรมของแต่ละคนก็ต่างกันไปจะปรากฏขึ้นเมื่อไรไม่สามารถบังคับได้  อย่างในเวลานี้ผลบาปกำลังส่งผลอยู่และแล้วกรรมดีก็เกิดขึ้นและกรรมดีนั้นมีกำลังมากกว่า  กรรมดีจึงส่งผลก่อนส่วนกรรมชั่วต้องรอไปก่อนจึงจะส่งผลอีกครั้ง  ฉะนั้นจึงแก้กรรมไม่ได้  คนปกติทั่วไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นประจำ  กรรมนั้นยังไม่ส่งผลทันทีอาจจะไปส่งผลเวลาใกล้ตายหรือไปส่งผลข้ามภพข้ามชาติ  แต่ถ้าไปฆ่าคนตายกรรมนั้นส่งผลทันทีทำให้ต้องหลบหนีอยู่ไม่เป็นสุข  ที่สุดถูกจับลงโทษในเบื้องต้นตายไปแล้วยังต้องใช้กรรมในนรกอีก  บุญส่วนบุญบาปส่วนบาปไม่สามารถแก้ได้  อยู่ที่ว่าอะไรจะส่งผลก่อน  แต่กรรมบางอย่างซึ่งเป็นกรรมเบาอาจจะเป็นอโหสิกรรมได้หรือกรรมตามไม่ทัน  อย่างผู้ที่สำเร็จอริยะตั้งแต่โสดาบันขึ้นไปไม่ต้องไปใช้กรรมในอบายภูมิทั้งสี่  แต่มาใช้กรรมในปัจจุบันเหมือนกับพระองคุลิมาลที่สำเร็จอรหันต์แล้วไม่ต้องไปใช้กรรมในนรก  แต่ก็ต้องถูกก้อนหินก้อนกรวดและไม้ต่างๆที่เขาขว้างทิ้งไปที่อื่นแล้วปลิวเข้ามาทำร้ายท่าน
พระโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก    ในอดีตชาติเคยทำอนันตริยกรรมฆ่าพ่อฆ่าแม่  ตายไปแล้วใช้กรรมอยู่ในนรกนับวันนับเดือนนับปีไม่ได้  พ้นจากนรกแล้วเกิดเป็นมนุษย์ต้องถูกเขาทุบตีถึงแก่ความตายตลอด ๕๐๐ ชาติ  แม้ชาติสุดท้ายสำเร็จพระอรหันต์แล้วก็ไม่พ้นจากกรรมนี้  พระโมคคัลลานะมีฤทธ์สามารถเหาะหนีโจร๕๐๐ได้หลายครั้ง  ที่สุดท่านพิจารณาแล้วรู้ว่าไม่สามารถหนีกรรมนี้ได้  จึงยอมให้โจรทั้ง๕๐๐ ทุบตีจนกระดูกแตกละเอียด  แต่ด้วยท่านมีฤทธิ์มากจึงต่อเนื้อต่อกระดูกต่อเส้นเอ็นแล้วเหาะไปหาพระพุทธเจ้าเพื่อขอนิพพาน  ตรงนี้จะเห็นว่าแผ่เมตตาหรือนั่งกรรมฐานแก้กรรมใดๆก็ไม่ได้  อีกอย่างกรรมที่เกิดขึ้นกับพระโมคคัลลานะนั้น  พ่อแม่ไม่ได้เป็นเจ้ากรรมที่คอยตามทุบตีพระโมคคัลลานะตลอดทั้ง๕๐๐ชาติ
เมื่อผลบุญส่งผลก่อนทำให้ผลบาปต้องรอส่งผลภายหลัง  เพราะไม่มีวิธีใดๆที่จะแก้หรือล้างผลบาปได้  เมื่อนั่งกรรมฐานเป็นประจำจึงทำให้ผลบุญเกิดต่อเนื่องจนกระทั่งสิ้นชีวิต  ผลบาปนั้นรอส่งผลข้ามภพข้ามชาติต่อไป  อย่างเรื่องของนางรุจาที่แต่ละคนว่าตัวเองระลึกชาติแต่หนหลังได้  เมื่อก่อนเคยเป็นเศรษฐี  ปัจจุบันเป็นขอทานก็เพราะก่อนหน้าเป็นเศรษฐีเขาระลึกชาติไม่ได้ซึ่งชาตินั้นเขากระทำผลบาปเอาไว้มาชาติปัจจุบันจึงต้องเป็นคนอาภัพเป็นขอทาน  ส่วนชาติที่เป็นเศรษฐีก็เพราะชาติก่อนที่จะทำบาปอีกหนึ่งชาติเขาได้สร้างบุญไว้มาก
เมื่อเอาเกลือ ๕ ช้อน ใส่ในขันน้ำใบหนึ่ง  น้ำในขันนั้นย่อมมีความเค็มอยู่แน่นอน  แต่ถ้าเอาเกลือ ๑ ช้อน ใส่ในโอ่งใบใหญ่  น้ำในโอ่งนั้นจะไม่มีรสเค็มเลย  ถึงแม้ว่าน้ำในโอ่งนั้นจะมีเกลืออยู่ก็ตาม  แต่ความเค็มของเกลือนั้นไม่ส่งผล  เช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติธรรมที่ก่อนหน้านั้นมีวิบากกรรมทำให้เดือดเนื้อร้อนใจแล้วจึงมาปฏิบัติธรรมเพื่อจะแก้กรรมนั้นๆ  ผลจากการปฏิบัติเป็นไปด้วยความก้าวหน้า  จึงทำให้เกิดผลบุญต่อเนื่องและผลบุญนั้นแรงกว่าผลของวิบากกรรม  ผลบุญจึงส่งผลก่อนผลบาป  ทำให้ชีวิตและการงานเริ่มดีขึ้น  แต่ผลของวิบากกรรมนั้นไม่ได้หมดไป  เพียงแต่ยังไม่ส่งผลออกมาเมื่อผลบุญถูกใช้จนหมดไปแล้วและไม่สร้างบุญต่อ  ที่สุดผลบาปก็ส่งผลทันทีเหมือนน้ำในโอ่งที่ค่อยๆระเหยออกไป  เหลือน้ำอยู่ติดก้นโอ่ง  น้ำนั้นก็จะมีรสเค็มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนน้ำระเหยไปหมดเหลือแต่ผลึกของเกลือที่เปรียบเหมือนผลบาปที่ส่งผลของกรรมนั้นทันที
เมื่อคนจำพวกหนึ่งตายไปแล้วตกนรก  พระยายมราชจะถามว่า  เคยทำบุญอะไรไว้บ้าง  ถ้าเคยทำและจำได้พระยายมราชก็จะให้ไปเสวยสุขบนสวรรค์ก่อน  แต่ถ้าไม่เคยทำบุญหรือจำไม่ได้ก็จะถูกลงโทษในนรก  ส่วนผู้ที่ทำบุญไว้มากก็ไปบังเกิดบนสวรรค์เลยไม่ต้องมานรกก่อน แม้คนเราจะไปเสวยสุขบนสวรรค์ก่อน  แต่เมื่อหมดบุญแล้วก็ต้องมารับกรรมในนรกอยู่ดี  เพราะทุกอย่างเป็นไปตามวิบากกรรม  แม้พระพุทธเจ้าที่เคยเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์อยู่นั้นก็ยังต้องไปรับกรรมอยู่ในนรกเช่นกัน  พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่ามีแต่พระอริยเจ้าทั้งหลายที่มีที่สุดของภพชาติ  อย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ  สำหรับพระโสดาบัน   สำหรับพระสกิทาคามี ไม่เกิน ๓ ชาติ สำหรับพระอนาคามี ไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกแต่จะไปสำเร็จพระอรหันต์บนพรหมชั้นสุทธาวาส และสิ้นภพสิ้นชาติไม่ต้องกลับมาเกิดอีกสำหรับพระอรหันต์  และพระอริยเจ้าทั้งหลายไม่ไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ มี  สัตว์นรก  เปรต อสูรกาย และสัตว์เดรัจฉาน  นอกนั้นที่เป็นปุถุชนพระพุทธเจ้าไม่ยอมรับที่สุดของภพชาติและการเกิดอบายภูมิ
ฉะนั้นตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากการไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ ได้  จึงไม่มีวิธีใดๆที่จะแก้กรรมได้  นอกจากทางของอริยะที่ทำให้กรรมเบาบางลงโดยไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ  กรรมบางอย่างเป็นอโหสิกรรม  สำเร็จอรหันต์แล้วไม่มีภพ ไม่มีชาติ ไม่มีเวรมีกรรมต่อไปอีก  แม้ผู้ที่นั่งกรรมฐานจนได้อภิญญา๕ สมาบัติ๘ มีฤทธิ์มีเดชก็ไม่สามารถพ้นนรกไปได้  นั่งกรรมฐานอย่างดีก็ลดกรรมคดีแพ่งคือมีการชดใช้ค่าเสียหายหรือการชดใช้บุญอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ตกลงกันได้ส่วนวิบากกรรมใหญ่ที่ต้องไปตกนรกและเมื่อรับกรรมในนรกหมดแล้วอาจมาเกิดเป็นสัตว์หรือเกิดเป็นมนุษย์ไม่สมประกอบพิกลพิการหรือประสบอุบัติเหตุภายหลังทำให้ต้องสูญเสียอวัยวะ  ซึ่งขึ้นอยู่กับผลของวิบากกรรมนั้นๆ  เปรียบเหมือนคดีอาญาที่ต้องติดคุกติดตารางตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตเลย    ผมจึงเขียนบทความปิดประตูนรกและกุญแจธรรมขึ้นมาเพื่อสอนวิธีการปิดประตูนรกหรือปิดอบายภูมิทั้ง๔ได้จริงกับการปฏิบัติจริงตามแนวทางที่ผมบอกไว้  เมื่อปิดอบายภูมิได้แล้วชีวิตไม่มีการตกต่ำอีกต่อไปจะรวยกว่าพระราชา
แผ่เมตตา
ผมมาพิจารณาถึงบทแผ่เมตตา ในสมัยก่อนไม่เคยเจอบทแผ่เมตตาให้กับตัวเองแม้แต่ในพระไตรปิฎกที่พระท่านชอบนำชาดกมาเทศน์ให้ชาวบ้านฟัง  ก็ยังไม่มีการทำบุญให้ทานหรือแต่การฟังธรรมเทศนาจบแล้ว  มีการแผ่เมตตาให้กับตัวเอง  ก็เช่นเดียวกับเรื่องการชำระหนี้สงฆ์ที่มีพระที่รู้พระบาลีแต่งขึ้นมาภายหลัง
แผ่เมตตาให้กับตนเองเพื่ออะไรกัน  โดยความหมายคือ  ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขปราศจากความทุกข์  ปราศจากความลำบาก  ปราศจากอุปสรรค  จงมีความสุขกายสุขใจ  รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัย  อยู่เป็นสุขทุกเมื่อเถิด  ยิ่งคำว่ารักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหมดทั้งสิ้น  ถ้าเรายังประมาทโดยการทำผิดศีลธรรม  เช่นดื่มน้ำเมาขณะขับรถอย่างนี้จะเป็นการรักษาตนได้อย่างไร  หรือแม้แต่การทำผิดศีลข้ออื่นๆ  ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตโดยไม่เกรงกลัวต่อบาปแล้วจะแผ่เมตตาให้ตัวเองพ้นจากภัยต่างๆก็เป็นไปไม่ได้
ถ้าเราเข้าใจเรื่องของกรรม  สิ่งที่เกิดขึ้นจะดีหรือเลวอยู่ที่กรรมดีหรือกรรมเลวที่เรากระทำเอาไว้  ไม่ใช่เราทำกรรมชั่วแล้วจะให้ตัวเองพ้นจากภัยพิบัติทั้งหลายย่อมเป็นไปไม่ได้  บาปส่วนบาปบุญส่วนบุญ  พระโมคคัลลานะยังไม่พ้นวิบากแห่งกรรมที่ต้องถูกเขาทุบตีถึง ๕๐๐ ชาติ   แม้ในชาติสุดท้ายที่สำเร็จพระอรหันต์แล้วท่านจะมานั่งภาวนาแผ่เมตตาให้กับตัวเองให้พ้นจากภัยนั้นก็ไม่ได้  พระโมคคัลลานะท่านรู้และยอมรับสภาพกรรมที่ท่านเคยสร้างเอาไว้ตั้งแต่อดีตชาติ
การแผ่เมตตาอย่างนั้นเป็นการอธิษฐานเพื่อตัวเองเสียมากกว่า  การทำบุญทุกครั้งจะมีการอธิษฐานผลบุญที่ตัวเองได้กระทำไว้ให้ประสบกับความสุข  ความสำเร็จสมหวัง  หรือสิ่งใดที่ตัวเองปรารถนา  บางคนทำบุญยี่สิบบาทนั่งอธิษฐานขอผลบุญเป็นชั่วโมง  ไม่รู้ขออะไรมากมาย  จะทุกข์หรือสุขก็อยู่ที่ใจ  ใจที่อบรมมาดีแล้วจะเข้าใจทั้งทุกข์เหตุของทุกข์การดับทุกข์และวิธีการดับทุกข์โดยมีมรรคเป็นองค์แปด  เมื่อคิดถูกการปฏิบัติก็ถูกไปด้วย  แต่เมื่อคิดผิดการปฏิบัติก็ผิด  เท่าที่เคยปฏิบัติธรรมกับพระกรรมฐานอยู่หลายรูป  ท่านก็ไม่เคยให้แผ่เมตตาให้กับตัวเองเลย  ถึงแม้ตอนหลังจะมีพระกรรมฐานบางรูปให้แผ่เมตตาให้กับตัวเอง  ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายต้องใช้ปัญญาพิจารณาดูให้ดีว่าสิ่งที่ผมกล่าวมานั้นผิดหรือถูกอย่างไร  สิ่งใดสมควรเชื่อหรือไม่สมควรเชื่อ
มียาจกขอทานมาขออาหารจากเรา  เราจะให้อาหารหรือแผ่เมตตาไปให้เขา  เมื่อขอทานเหล่านั้นกำลังหิวโหยรอรับทานจากเราอยู่  เราจะแผ่เมตตาไปขอให้เขาจงมีความสุข  อย่าได้มีภัยต่อกันและกันเลย  จงปราศจากความทุกข์เถิด  อะไรทำนองนั้น  แล้วเขาจะหายทุกข์คือความหิวที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้อย่างไรกัน  แต่ถ้าเราให้อาหารเขาไป  เขาจะหายทุกข์จากความหิวทันที  เราเองก็ได้รับผลบุญจากการให้ทานในครั้งนี้  เช่นเดียวกับการที่เรานั่งวิปัสสนาหรือกรรมฐานเสร็จแล้วนั้นย่อมมีผลบุญมาก  ใครๆที่เดือดร้อนก็อยากได้รับผลบุญจากเรา
ครั้งที่พระเจ้าพิมพิสารได้ทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าแล้วในคืนนั้นพระเจ้าพิมพิสารได้ยินเสียงร้องโหยหวนน่ากลัว  พอรุ่งเช้าจึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและตรัสถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะดีร้ายประการใดบ้าง  พระพุทธเจ้าจึงตรัสเล่าถึงอดีตกาลที่ญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้สร้างกรรมอะไรไว้  แล้วไปบังเกิดเป็นเปรตและรอรับส่วนบุญจากญาติของเขาหลายร้อยล้านปี  ที่สุดพระเจ้าพิมพิสารที่เป็นญาติของเขาทั้งหลายได้ทำบุญแล้วไม่ได้กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปให้  พวกเปรตทั้งหลายจึงมาร้องขอส่วนบุญ  เมื่อพระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนบุญไปให้ญาติเปรตทั้งหลายแล้ว  พวกเขายังมาปรากฏกายเปลือยเปล่าให้เห็นอีก  พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายผ้าไตรจีวรและอุทิศส่วนบุญไปให้  พอตกกลางคืนญาติเปรตทั้งหลายมาปรากฏกายให้เห็นอีก  แต่คราวนี้มาด้วยสรีระสวยงามเปล่งปลั่งมีผ้าแพรพรรณสวมใส่สวยงาม  และมาบอกลาพระเจ้าพิมพิสารเพื่อจะไปเกิดยังภพภูมิใหม่  ด้วยพวกเขาชดใช้กรรมหมดสิ้นแล้ว
พระเจ้าพิมพิสารได้รับความหวาดกลัวต่อเสียงเปรตทั้งหลาย ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ตรัสให้พระเจ้าพิมพิสารแผ่เมตตาไปให้  มีคนบางคนเคยเห็นเปรตเห็นผีแล้วก็มีคนบอกให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้  เมื่อทำแล้วเขาก็ไม่เห็นเปรตเห็นผีอีกเลย  ทำไมจึงไม่แผ่เมตตาไปให้ทั้งที่ชาวพุทธส่วนใหญ่จะท่องบทแผ่เมตตากันได้  ผมจึงบอกว่าเวลานั่งวิปัสสนากรรมฐานเสร็จแล้วให้แผ่ส่วนบุญไปให้กับญาติพี่น้องและสรรพทั้งหลายไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ  แล้วแผ่เมตตาอย่างไรจึงจะถูกต้อง
กรณียเมตตาสูตร
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคกล่าวถึงการแผ่เมตตาไปตามลำดับ  จากคนที่เราเคารพนับถือก่อน  มิตรสหายที่สนิทสนม  คนที่เราวางเฉย  ไม่รักหรือชัง  คนที่เราไม่พอใจ  ศัตรูของเรา  และไม่ควรแผ่เมตตาให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว  เรื่องการแผ่เมตตาส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังพุทธกาลคือเกิดขึ้นในประเทศศรีลังกา  ในพระอภิธรรมมีการกล่าวถึงการแผ่เมตตาที่ต้องได้สมาธิขั้นต่ำคือปฐมฌานเสียก่อน  การแผ่เมตตานั้นจึงจะได้ผล  ส่วนในชาดกจะกล่าวถึงพระเจ้าพาราณสีถูกอำมาตย์ทรยศคบคิดกับพระราชาเมืองอื่นจับกุมไปคุมขัง  แล้วพระเจ้าพาราณสีได้เจริญเมตตากรรมฐานได้ฌานสี่จึงแผ่เมตตาไปให้ศัตรู  จนศัตรูร้อนรุ่มในจิตใจเหมือนถูกไฟนรกเผาทนอยู่ไม่ได้ต้องนอนเกลือกกลิ้งไปมา  และต้องมาขอโทษยกสมบัติคืนให้พระเจ้าพาราณสี
การแผ่เมตตามีอานุภาพถึงเพียงนั้น  พระธุดงค์ที่เจออันตรายจากสัตว์ดุร้าย  ก็อาศัยการแผ่เมตตารอดบ้างไม่รอดบ้าง  ที่ต้องตายเพราะจิตฟุ่งซ่านขาดสมาธิ  ที่รอดมาได้เพราะท่านสมาธิดีเข้าถึงปฐมฌานแล้วแผ่เมตตาไป  สัตว์ดุร้ายเหล่านั้นก็หลีกทางให้  พระบางรูปก็ใช้วิธีอธิฐานจิต  ถ้าเราเคยก่อเวรสร้างกรรมกันมาก่อน  ก็ขอให้ท่านมาเอาชีวิตของเราไปได้เลย  แต่ถ้าเราไม่เคยก่อเวรสร้างกรรมกันเอาไว้แล้ว  ก็ขอให้ท่านจงหลีกทางให้กับเราด้วย  เราไม่ได้มีเจตนาที่จะมารบกวนหรือเบียดเบียนท่านเลย  เราศิษย์ตถาคตต้องการแสวงหาวิโมกข์ธรรมเพื่อนำไปสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลาย  แม้ท่านเองก็ขอจงรับส่วนบุญส่วนกุศลจากการบำเพ็ญเพียรของอาตมาในครั้งนี้ด้วย  นี่เป็นการแผ่เมตตาและอธิษฐานจิตของพระธุดงค์ทั้งหลาย
พระภิกษุจำนวนหนึ่งได้รับพระกรรมฐานจากสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้พากันไปหาสถานที่สัปปายะที่เหมาะสมและได้ร่วมกันปฏิบัติอยู่ใกล้ราวป่าแห่งหนึ่ง  ในสถานที่นั้นมีเทวดาและอมนุษย์ทั้งหลายอาศัยอยู่  ด้วยมีความคิดว่าภิกษุเหล่านั้นได้มาสร้างความเดือดร้อนให้กับตน  จึงแกล้งและสร้างความรำคาญให้กับภิกษุเหล่านั้น  เพื่อจะได้ออกไปจากสถานที่ของตน  ภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมได้จึงพากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทรงทราบทั้งหมด  พระพุทธองค์จึงสอนบทกรณียเมตตาสูตรไปให้
ในบทกรณียเมตตาสูตรได้กล่าวถึงบุคคลผู้บรรลุธรรมเป็นพระอริยแล้ว  กุลบุตรผู้ฉลาดทั้งหลายพึงถือประโยชน์ในการกระทำนั้น  ด้วยความอาจหาญและซื่อตรง  เป็นผู้ว่าง่ายอ่อนโยน  ไม่ถือตน  เป็นผู้มีความสันโดษเลี้ยงง่าย  มีกิจธุระน้อยไม่ขวนขวายเกินเหตุ  ทำสิ่งใดแต่พอเพียงไม่ลำบากกายและใจ  มีความสงบเป็นผู้มีปัญญา  ไม่หมกมุ่นพัวพันในหมู่ชนทั้งหลาย  ผู้รู้พึงติเตียนบุคคลอื่นด้วยกรรมอันไม่ควรประพฤติ  เราก็จะไม่ทำกรรมอันนั้นเลย  นี่เป็นการตั้งความปรารถนาที่จะเดินรอยตามพระพุทธเจ้า  จะประพฤติและปฏิบัติตามอย่างพระอริยเจ้าผู้บรรลุธรรมทั้งหลาย  จากนั้นก็แผ่เมตตาจิตออกจากใจจริง  ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงมีแต่ความสุข  ไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ  ที่มีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง  ขอสัตว์เหล่านั้นอย่าได้ข่มเหงเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย  อย่าได้ดูถูกดูหมิ่นผู้อื่นด้วยประการใดๆ  ไม่ควรสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่กันและกัน  ด้วยความโกรธ  ความคับแค้นใจ  เหมือนมารดาที่ยอมสละชีวิตแม้บุตรได้  เราควรเจริญเมตตาให้เกิดขึ้นในใจ  ไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งหลาย  ผู้เจริญเมตตาย่อมอยู่เป็นสุขในทุกอริยบท  บัณฑิตทั้งหลายจึงว่านี้เป็นพรหมวิหารธรรม  ซึ่งบุคคลที่มีเมตตาเป็นผู้มีศีล  ไม่เป็นมิจฉาทิฐิ  ถึงพร้อมที่จะได้โสดาบันปัตติมรรค  แม้ตัดความกำหนัดในกามออกได้ก็ไม่ต้องมาเกิดอีก
อานิสงส์เมตตา
ผู้เจริญเมตตาย่อมมีอานิสงส์ ๑๑ ประการ คือ  ๑.นอนหลับอยู่ก็เป็นสุข  ๒. ตื่นอยู่ก็เป็นสุข  ๓. ไม่ฝันร้าย  ๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย  ๕. เป็นที่รักของเหล่าอมนุษย์ทั้งหลาย  ๖. เทวดาย่อมคุ้มครองรักษา  ๗. ไฟก็ดี  ยาพิษก็ดี  ทำอันตรายไม่ได้  ๘. จิตย่อมถึงสมาธิได้รวดเร็ว  ๙.ผิวหน้าย่อมผ่องใส  ๑๐. เป็นผู้ไม่ลุ่มหลงทำกาลกิริยาตาย ๑๑. เมื่อยังไม่บรรลุคุณวิเศษย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก
ก่อนจะนั่งวิปัสสนากรรมฐานให้เจริญเมตตาเสียก่อน  เมตตาแปลว่า  ความรัก  กรุณาแปลว่าสงสาร  พิจารณาที่จิตของเรา  เราจะเป็นผู้ที่มั่นคงในศีล  เราจะไม่ทำลายและเบียดเบียนแม้การทรมานสัตว์  เราจะไม่ลักขโมยแย่งชิงทรัพย์ของผู้อื่น  เราจะไม่ประพฤติผิดลูกเมียของผู้อื่น  ถึงจะเป็นคนรักที่ยังไม่ได้แต่งงานกัน  เราก็จะไม่ฉวยโอกาสแสดงความรักแม้ได้จูบกัน  เราจะไม่พูดโกหกมดเท็จ  เราจะไม่ดื่มสุรายาเมาและยาเสพติด  จากนั้นก็แผ่เมตตาจิตและความสงสารไปในทิศทั้งหลายไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ  โดยกำหนดจิตไว้เสมอว่า  เราจะไม่เป็นศัตรูกับใคร  เราจะไม่เบียดเบียนผู้อื่น  เราจะเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั้งหลาย  เราจะช่วยสงเคราะห์ทั้งคนและสัตว์ที่ได้รับความทุกข์ให้มีความสุขตามกำลังความสามารถที่เราพอจะช่วยได้  คือทำอย่างนี้ให้เป็นปกติทุกวัน  จนจิตเกิดความเคยชิน  จิตก็จะละความโกรธพยาบาทความเคียดแค้นลง  เมื่อจิตพิจารณาได้อย่างนี้  จิตจะมีความเยือกเย็นทำให้ศีลบริสุทธิ์ขึ้น  เมื่อศีลบริสุทธิ์สมาธิก็ตั้งมั่น  ความเร่าร้อนกระวนกระวายก็ไม่มี  จิตเริ่มอ่อนโยนตัดความอิจฉาริษยาออกจากจิต  มุทิตาเกิดขึ้นย่อมยินดีเมื่อบุคคลอื่นได้ดี  เพราะบุญทานที่เขาทำไว้ดีเขาจึงได้รับผลดีอย่างนั้น  ขณะที่พิจารณาอยู่มีเสียงดังเกิดขึ้นหรือมีเสียงที่ไม่ต้องกับอารมณ์ก็วางเฉยเสีย  มันไม่เที่ยงเดี๋ยวมันก็ดับไป  เมื่อมีอุเบกขามาควบคุมไม่ให้อารมณ์อื่นเข้ามายุ่งกับจิตของเราจึงทำให้อารมณ์ไม่กระสับกระส่าย  จิตก็จะมีสมาธิและทรงฌานได้นาน
เมื่อศีลบริสุทธิ์ขึ้นนอนก็เป็นสุขไม่ฝันร้าย  ตื่นก็เป็นสุข  มนุษย์เทวดาและสัตว์ทั้งหลายก็อยากอยู่ใกล้ชิดเพราะเราไม่เบียดเบียนผู้อื่น  เทวดาก็คุ้มครองรักษา  คือเป็นเทวดาที่ยังลำบากอยู่ไม่ได้เสพสุขอยู่บนเทวโลก  เป็นเทวดาตามป่าตามเขาตามต้นไม้ใหญ่  เทวดายอดหญ้าไม่มีวิมานเป็นของตัวเอง  อย่างเทวดาที่ไปอาศัยอยู่ซุ้มประตูของอนาถบิณทิกะ  แล้วถูกขับไล่ไม่ให้อยู่ด้วย  เพราะเทวดาไปพูดทักท้วงไม่ให้อนาถบิณทิกะได้ทำทานต่อไป  ท่านทำทานจนจะไม่เหลืออะไรอยู่แล้ว  แม้เหลือน้ำดองผักอยู่ท่านก็ยังมั่นคงในการให้ทานต่อไป  จนเทวดาไม่มีที่อยู่จึงไปปรึกษากับเทวดาชั้นผู้ใหญ่  แล้วท่านก็แนะนำให้ไปนำทรัพย์ของอนาถบิณทิกะที่จมลงไปในทะเลขณะที่เรือสำเภาได้ค้าขายมีทรัพย์เต็มลำเรือถูกพายุพัดอับปางจมลง  เมื่อเทวดาหาทรัพย์มาคืนให้และขออนุญาตอยู่ต่ออนาถบิณทิกะก็ไม่ว่าอะไร
เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมมีศีลบริสุทธิ์มักทำบุญทานเสมอ  เมื่อทำบุญแล้วย่อมอุทิศส่วนบุญด้วย  เทวดาทั้งหลายก็จะโมทนาบุญของเรา  เทวดาก็จะได้บุญด้วย (โมทนาบุญอยู่ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐) เปรตบางจำพวกก็จะได้รับส่วนบุญนั้นๆ  ไฟ ยาพิษและอาวุธทั้งหลายก็ทำอันตรายไม่ได้  เพราะความมีศีลบริสุทธิ์ไม่ข่มเหงรังแกใคร  ถึงแม้จะมีคนอิจฉาริษยามาทำร้าย  ถ้าไม่แพ้ภัยตัวเองก็จะมีเหตุมาระงับและช่วยทัน  จิตย่อมเข้าถึงสมาธิเร็ว  ผิวหน้าผ่องใสเพราะไม่โกรธพยาบาทใครมีแต่ความสุข  เวลาใกล้ตายก็ไม่หลงลืม  แม้ยังไม่บรรลุคุณวิเศษเมื่อแตกกายตายไปก็ไปอยู่ยังพรหมโลก
นี่เป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง  ไม่ใช่ท่องแต่สัพเพ  สัตตาฯ แต่ปกติยังทำผิดศีลอยู่  ชอบเบียดเบียนรังแกสัตว์  ถือประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตัวด้วยวิธีการต่างๆ  หลอกลวงหญิงมาสำเร็จความใคร่  พูดโกหก  ด่าทอ ยุยง  ใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น  ดื่มของมึนเมา เสพยาเสพติดแม้บุหรี่  ถ้าเป็นเช่นนี้  สัพเพ สัตตาฯ ไปก็ไม่ได้ประโยชน์  จะอธิฐานให้พ้นเวรพ้นภัยก็ไม่ได้  จะให้ผู้อื่นเมตตาก็ไม่ได้  ใครทำอะไรก็ได้รับผลกรรมอย่างนั้น  กรรมเป็นทวีคูณไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมชั่ว
ในบทกรณีเมตตาสูตรตอนท้ายที่กล่าวถึงการสำเร็จอริยมรรค  จากการเจริญพรหมวิหาร  ซึ่งหมายถึงตัวอุเบกขาความวางเฉยในด้านวิปัสสนา  การวางเฉยในสังขาร  คือร่างกายจะแก่จะเหี่ยว  จะปวดไข้ไม่สบาย  มีการพลัดพรากจากสิ่งที่รักแม้แต่ความตายที่อยู่เบื้องหน้าใกล้เข้ามาถึงตัว  อารมณ์อุเบกขาก็ย่อมวางเฉย  มันเป็นเรื่องธรรมดาของมันอย่างนั้นตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้วเพราะความมีสภาพไม่เที่ยง  บังคับไม่ได้  ถ้าไปยึดมันก็จะทุกข์  เมื่อจิตยอมรับความจริงว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา  จิตก็จะเข้าสู่อริยขั้นต้น  ตัดสังโยชน์ทั้ง ๓ ได้  เป็นพระโสดาบันบุคคลแต่การปฏิบัติจริงๆไม่ได้ง่ายอย่างนั้น  ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง
กลับมาพิจารณาบทแผ่เมตตากันอีกครั้ง  สัพเพ  สัพตา  อะเวรา  โหนตุ ฯลฯ  อย่างที่บอกไว้ว่าคงมีการแต่งขึ้นมาภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนานแล้ว  เพื่อเป็นกุศโลบายของผู้แต่งมากกว่าที่ต้องการให้ชาวพุทธมีกำลังใจที่จะละบาปสร้างบุญให้มากขึ้น  ที่ผู้แต่งมุ่งหวังให้ผู้แผ่เมตตามีศีลบริสุทธิ์ที่ว่า 

-จงเป็นสุขเป็นสุขเถิดอย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย  ตราบใดที่เรายังทำร้ายร่างกายผู้อื่นให้ได้รับความลำบากอยู่  ยังทรมานสัตว์อยู่  และยังมีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่ อย่างนี้จะไม่ให้มีเวรมีกรรมกันได้อย่างไร (ศีลข้อ ๑)

 -จงเป็นสุขเป็นสุขเถิดอย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย  ตราบใดที่ยังมีการแย่ง ชิง ปล้น ลักทรัพย์ ฉ้อโกงถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน อย่างนี้แล้วจะไม่ให้ผู้อื่นมาเบียนเบียนเราได้อย่างไร (ศีลข้อ ๒ ) 

 -จงเป็นสุขเป็นสุขเถิดอย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย  ตราบใดที่ยังประพฤตินอกใจคู่ครอง  ไปข่มขืนผู้อื่นที่ไม่ใช่สามีหรือภรรยาของตัวเอง ทำให้กลัวคู่ครองจะจับได้  ผู้อื่นจะรู้ความชั่วของตัวเอง  อย่างนี้จะไม่ทุกข์กายทุกข์ใจได้อย่างไร (ศีลข้อ ๓ )

 -จงมีความสุขกายสุขใจ   ตราบใดที่ยังมีการพูดจาให้ร้ายป้ายสี  ด่าทอ พูดหยาบคายลามก  โกหกหลอกลวง  ทำให้กลัวผู้อื่นจะมาชี้หน้าด่าทอสาปแช่ง  นอนอยู่ได้ยินเสียงอะไรก็ตกใจกลัวผู้อื่นจะมาทำร้ายเพราะไปโกหกจนทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ถูกยึดทรัพย์  ครอบครัวแตกแยก  บ้านถูกยึด  อย่างนี้จะมีสุขกายสุขใจได้อย่างไร (ศีลข้อ ๔ ) 

-รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหมดทั้งสิ้น ตราบใดที่ยัง ขับรถขณะมึนเมาจนเกิดอุบัติเหตุ  ดื่มน้ำเมาเสพยาเสพติดจนขาดสติทำร้ายตัวเองและผู้อื่น แม้ทรัพย์สินให้เสียหาย  อย่างนี้แล้วจะให้พ้นภัยได้อย่างไรกัน (ศีลข้อ ๕ ) 

ถ้ายังไม่ละบาปโดยสร้างแต่บุญ สัพเพสัตตาไปก็ไม่มีประโยชน์  เคยบอกไปหลายครั้งหลายหนว่าบุญส่วนบุญบาปส่วนบาป  เมื่อทำบาปไปแล้วก็ต้องรับผลแห่งวิบากกรรมนั้น  พระพุทธเจ้าสอนการหลุดพ้นโดยมรรคมีองค์๘  ขอให้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายคิดพิจารณาให้ถี่ถ้วน จะช่วยทำให้ท่านมีปัญญาเพิ่มยิ่งๆขึ้นไป
ทานที่ให้ผลทันที   ต้องเกิดจากศรัทธาที่แท้จริงดังที่เขียนบอกไว้แล้ว  และได้ทำทานกับพระสงฆ์ที่เข้านิโรธสมาบัติอย่างน้อย ๗ วันขึ้นไป  ผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติต้องเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์เท่านั้น  และต้องพ้นเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ  เพราะเมื่อออกจากนิโรธสมาบัตินั้น  จิตขณะแรกเกิดเป็นผลจิตมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
ชาวบ้านก็อย่าไปหลงเชื่อก็แล้วกัน  ที่มีลูกศิษย์โฆษณาป่าวประกาศว่าพระรูปนั้นรูปนี้  จะเข้านิโรธสมาบัติและออกจากผลสมาบัติในวันนั้น  ใครได้ทำบุญจะมีอานิสงส์เห็นผลทันตา  อย่าไปหลงเชื่อทีเดียว  อีกอย่างผู้ทำทานกับพระอริยะที่ออกจากสมาบัตินั้น  จะมีผลสูงสุดเพียงคนแรกและคนเดียว  คนต่อมาก็มีอาสงค์ตามปรกติไม่เหมือนคนแรก ย้อนไปอ่านเรื่องโพธิอำมาตย์จะเขใจยิ่งขึ้น
ผู้ที่มีโชคลาภหรือประสบความสำเร็จต่างๆ  เป็นเพราะเขาเคยทำมาแต่อดีตชาติ  แล้วผลมาบังเกิดในชาตินี้  แม้เทพหรือเทวดาจะบันดาลโชคลาภ  ความสำเร็จให้คนผู้นั้น  เทวดาก็ต้องพิจารณาก่อนแล้วว่าคนนั้นเคยสร้างบุญและกรรมอะไรไว้บ้าง  ที่จะส่งผลให้เกิดความสำเร็จตามที่อธิษฐานไว้
ผู้ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการงานการค้าขาย  เวลาไปเสี่ยงโชคกลับเสียเพราะเขาไม่เคยทำเอาไว้จึงไม่มีโชคทางด้านนี้  บางคนมีโชคทางด้านการเสี่ยงซื้อล๊อตเตอรี่หรือหวยถูกบ่อย  คนอื่นไปซื้อตามถูกบ้าง  ไม่ถูกบ้าง  เราควรจะเลี้ยงชีพในทางถูกต้องคือ สร้างสัมมาอาชีวะ
พระพุทธศาสนาให้มองที่กรรมเป็นเหตุ  เมื่อสร้างกรรมดีเป็นเหตุ  ผลย่อมออกมาดีตามกรรมนั้น  หลักพระพุทธศาสนามีอยู่มากแล้วแต่ใครจะนำมาใช้ให้ถูกกับเวลานั้น  ทุกข์เกิดตรงไหนก็ดับตรงนั้น  หลักสำคัญอีกอย่างของพุทธศาสนาก็คือให้เชื่อผลของกรรม  ใครทำอะไรย่อมได้รับผลของกรรมนั้น  จะช้าหรือเร็วแล้วแต่ว่าทำกับใครและอย่างไร
วิบากกรรมในต่างบุคคล  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อย  บาปกรรมนั้นก็นำเขาไปสู่นรก  ส่วนบุคคลอีกบางคนทำกรรมเพียงเล็กน้อยอย่างเดียวกัน  บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น  แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ  ปรากฏแต่ส่วนมาก  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  บุคคลไม่อบรมกาย  ไม่อบรมศีล  ไม่อบรมจิต  ไม่อบรมปัญญา  มีคุณน้อย  มีอัตภาพเล็ก  มีปกติเป็นทุกข์  เพราะวิบากเล็กน้อยเห็นปานนี้  กระทำบาปแม้เล็กน้อย  บาปนั้นก็นำเข้านรก  บุคคลใดอบรมกายฯ มีอัตภาพใหญ่  มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ หา ประมาณมิได้  บุคคลเห็นปานนี้  ทำบาปกรรมเล็กน้อยอย่างเดียวกัน  บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น  แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ  ปรากฏแต่ส่วนมาก  (ลณกสูตร ๓-๔๐๑)
ในพระสูตรนี้หมายถึง  การทำกรรมเท่ากันแต่ให้ผลต่างกัน คือ  คนที่ไม่เคยอบรมศีลธรรมปัญญา  เมื่อทำกรรมแม้เล็กน้อย  บาปนั้นก็นำเข้าสู่นรก  ส่วนคนที่อบรมศีลธรรมอันดี  กรรมแม้เล็กน้อยที่เหมือนกันกับคนแรก  บาปกรรมนั้นส่งผลทันตาเห็น  คือให้ผลในปัจจุบันชาตินั้น 
เหมือนคนในปัจจุบันรวมทั้งนักการเมืองที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง  โกงกินบ้านเมืองแต่ยังไม่ได้รับผลกรรมสักที  หรือแม้แต่ที่เราเห็นคนทำความชั่วความเลวต่างๆ ก็ยังไม่ได้รับผลกรรม  เพราะเขาเหล่านั้นจะต้องไปรับกรรมในนรก  ส่วนคนดีมีศีลธรรมพลั้งเผลอทำความผิดไปมักจะได้รับผลกรรมทันตาเห็น  แต่ยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย  เช่น  ทำกับใคร  คนทุศีล  คนมีศีล  คนปฏิบัติเพื่อหวังความหลุดพ้นตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป  ตามที่จำแนกเอาไว้แล้ว  ก็ให้พิจารณาดูว่าคนมีศีลธรรมมากหรือคนทุศีลมีมากกว่ากัน  คนดีมีศีลธรรมเมื่อเผลอทำความผิดกรรมส่งผลทันตาเห็นแล้วตายไปต้องไปใช้กรรมในนรกอีกแต่น้อยกว่าคนที่ไม่มีศีลธรรมที่ทำกรรมอย่างเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น: