วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บทที่ ๑๙ นิพพานด้วยปัญญา (๓)


 

      ปัญญาทำให้รู้แจ้งแทงตลอด บทนี้เสริมความรู้ทางปัญญาที่หลายคนเคยรู้มาบ้างแล้วแต่อาจจะแตกต่างจากที่ผมนำมาเขียนเพื่อให้ได้ปัญญาจริงๆ ซึ่งมีอยู่หลายเรื่องแต่ก็ช่วยให้มีความเข้าใจมากขึ้น
พระร้องเพลง  พระเล่นจำอวด
                พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า  ศาสนาของตถาคตจะเสื่อมลงได้เหตุเพราะพุทธบริษัทไม่ปฏิบัติตามธรรมวินัยของพระองค์  ที่สุดเอาเศษจีวรมาผูกคอหรือมาทัดหู  ก็ขึ้นชื่อว่าภิกษุแล้ว เวลานี้ภิกษุก็ทำผิดวินัยกันมาก  ผิดกันตั้งแต่สมัยไหนก็ไม่รู้ได้  พระร้องเพลงก็มี  พระเล่นจำอวดก็มี  ทั้ง ๒ อย่างนั้นแม้จะทำให้มีผู้คนหันเข้ามาฟังธรรมกันมากขึ้น  ตามความคิดของท่านว่าเหมาะสมเข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบันก็จริงอยู่     แต่เป็นการสร้างนรกให้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัวน่าเศร้าจริงๆ   ถ้าเป็นฆราวาสธรรมกระทำอย่างนั้นก็มีบาปอยู่มากน้อยต่างกัน  แต่เป็นพระภิกษุก็ถือว่าไม่เคารพต่อพระธรรมแล้ว  และเพราะความเป็นปุถุชนของท่าน  จึงไม่อาจเข้าใจหลักธรรมของอริยะไปได้  คนส่วนหนึ่งก็ชอบฟังพระร้องเพลง  เล่นจำอวดจนหลงยึดติดคิดว่าได้ยินได้ฟังแล้วทำให้มีความสุข                                                    
โทษของภิกษุผู้กล่าวธรรมด้วยเสียงขับยาว  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  โทษของภิกษุผู้กล่าวธรรมด้วยเสียงขับยาว ๕ ประการ  คือ (๑) ตนเองย่อมกำหนัดในเสียงนั้น  (๒) ผู้อื่นย่อมกำหนัดในเสียงนั้น  (๓) ถูกตำหนิโทษว่าสมณศากยบุตรเหล่านี้ขับเหมือนพวกขับร้อง  (๔) เมื่อพอใจการขับร้องความเสื่อมแห่งสมาธิย่อมมี  (๕) ประชุมชนรุ่นหลังย่อมถือเป็นเยี่ยงอย่าง  (คีตสูตร ๔-๒๓๔)

                ดูก่อนราหุล  เรากล่าวว่า  บุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งที่รู้ จะไม่ทำบาปแม้น้อยหนึ่งเป็นไม่มี  เพราะเหตุนั้นราหุลเธอจักไม่กล่าวมุสา  แม้เพราะหัวเราะกันเล่น 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เมื่อบุคคลล่วงธรรมอย่างหนึ่งคือ  การกล่าวเท็จทั้งที่รู้  เรากล่าวว่าบาปกรรมอะไรๆ  อันเขาจะไม่พึงทำไม่มีเลย (สัมปชานมุสาวาทสูตร ๕-๒๔๕)

ขับเสียงยาวเป็นอย่างไรคงไม่ต้องอธิบายกันนะ  ส่วนจำอวดมีให้เห็นกันอยู่  สร้างและสะสมทางนรกให้กับตัวเองแท้ๆไม่รู้บ้างหรืออย่างไร  ขอบอกก่อนว่าผมไม่มีเจตนาที่จะยกตนข่มท่านแต่ประการใด  แต่ต้องการให้พุทธบริษัทได้เข้าใจหลักธรรมให้มีปัญญาเพิ่มขึ้น  แม้ในเวลานี้ก็มีพระที่ทำผิดวินัยกันมากโดยไม่รู้ตัว  ฆราวาสเองก็ไม่เข้าใจ  ทำให้พระผิดวินัยกันด้วย

เพื่อให้ชาวพุทธทั้งหลายได้เข้าใจพระวินัยเพิ่มขึ้น  จึงนำตัวอย่างบางเรื่องมาขยายความให้รู้กัน
โภชนปฏิสังยุตที่ ๒  หมวดว่าด้วยการบิณฑบาตและฉันอาหาร  สิกขาบทที่ ๒  ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า  เมื่อรับบิณฑบาต  เราจักแลดูแต่ในบาตร
ครั้งพุทธกาลโน้น  ลูกศิษย์ของพระสารีบุตรบวชมาได้  ๕ พรรษา  ยังไม่เคยไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีเลย  ออกพรรษาแล้วก็บอกเพื่อนภิกษุให้พาไปบิณฑบาตในเมืองบ้าง   เพื่อนภิกษุก็เตือนให้ระวังรักษาให้ดี  ถ้ารักษาไม่ดีตายแน่
ภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปบิณฑบาต  พอไปถึงหน้าบ้านเศรษฐี  พอดีลูกสาวเศรษฐีนุ่งห่มน้อยไม่ระวังกาย  ทำให้เห็นของสงวนบ้างไม่เห็นบ้าง วับๆแวมๆ  กลิ่นหอมจากเครื่องหอมลอยมา  พร้อมกล่าววาจารับอาหารหวานคาวเสียก่อน  ขณะนั้นตาของทั้งสองได้ประสบกัน  เธอนั้นงามเสียจริงๆ
สาวเจ้าก้มมองเห็นพระรูปงามเหมือนกัน  อุคคหนิมิต  เกิดขึ้นเห็นหมดทุกอย่าง  เมื่อสองฝ่ายเห็นหน้ากันอย่างนั้น  ไฟราคะก็ลุกโพลง  ไหม้ใจของลูกสาวเศรษฐีสิ้นชีวิตอยู่ตรงนั้น  ส่วนภิกษุองค์นั้นเล่าก็ถึงกับสลบไปต้องหามกันกลับวัด
ลูกสาวเศรษฐีตายแล้วก็เอาไปเผาเลย  แล้วเอาเสื้อผ้ามาบังสุกุลกับพระรูปนั้น  พอเอาเสื้อผ้ามาวางต่อหน้า  อุคคหนิมิต  เกิดขึ้นเป็นรูปหญิงสาวยิ้มให้อย่างยั่วยวน  เท่านั้นแหละ  ไฟราคะก็เผาจิตพระท่านให้สิ้นใจตายในขณะนั้น

มีพระวินัยอีกบทที่ต้องนำมาประกอบกัน คือ  ธัมมเทศนาปฏิสังยุตที่ ๓ หมวดว่าด้วยการแสดงธรรม  สิกขาบทที่ ๑๔  ภิกษุพึงทำความศึกษาว่าเรายืนอยู่  จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่
พระทั้งหลายขณะบิณฑบาต  ญาติโยมได้ใส่บาตรเสร็จแล้วนั่งโดยเคารพและพนมมือ  พระก็ยืนให้พร  ยะถา สัพพี----- หรือบทอื่นใดก็ตาม 
นั้นแหละยืนให้พรเห็นแก่ลาภ  และไม่เคารพธรรมวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้า  ยืนเทศนาให้แก่บุคคลไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่  ตัวเองก็ไม่เป็นไข้  จะถูกต้องได้อย่างไร  คำเทศนาใช่ว่าแต่จะนั่งอยู่บนธรรมาสน์ก็หาไม่  การกล่าวพระธรรมบทใดบทหนึ่งก็เป็นการแสดงธรรมเช่นกัน เมื่อญาติโยมต้องการขอพร  พระก็บอกให้เขาลุกขึ้นยืนก็ได้  (ไม่สวมหรือยืนบนรองเท้า)
พระในยุคของหลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต  ท่านจะให้ชาวบ้านเอาไม้แผ่นเดียวมายึดไว้กับตอไม้  ถึงเวลาก็เอาผ้าขาวมาปูไว้  พอหลวงปู่มั่นและหมู่สงฆ์กำลังบิณฑบาตมา  ชาวบ้านก็จะตีเกาะเตือนให้พากันมาใส่บาตร  เสร็จแล้วก็นิมนต์ให้ท่านนั่งและให้พร  อย่างนั้นแหละท่านเคารพธรรมวินัย
พระบางวัดรับบิณฑบาตแล้วก็จะเดินไปรับบาตรที่อื่นต่อไม่ได้ให้พร  ชาวบ้านก็ไม่ว่ากระไร  แต่ชาวบ้านที่กลัวจะไม่ได้บุญก็มีเยอะต้องการให้พระท่านให้พร  ความจริงขณะใส่บาตร  จิตก่อนให้มีความยินดี  จิตขณะกำลังให้ผ่องใส  ให้แล้วมีความปิติยินดี  ครบองค์ ๓ อย่างนี้บุญก็เกิดแล้ว
พระบิณฑบาตเสร็จแล้วก็จะนำไปฉันที่วัด  เมื่อฉันเสร็จแล้วก็จะให้พรอีกครั้งหนึ่ง  แม้อาหารที่บิณฑบาตมามีมากก็จะถูกแบ่งไว้ฉันเวลาเพล  ซึ่งจะมีลูกศิษย์ฆราวาสจัดการอุ่นให้เป็นที่เรียบร้อย  เมื่อพระฉันเพลเสร็จก็จะอนุโมทนาคาถาให้อีก  วันหนึ่งให้ตั้งสองรอบนะ

ทานของนางนาค
สมัยหนึ่งภิกษุในลังกาทวีปประมาณ ๖๐ รูป  พากันเที่ยวไปไหว้บูชามหาวิหารทั้งหลาย  จากนั้นภิกษุทั้งหมดใคร่จะไปไหว้ราชายตนะเจดีย์ในนาคทวีป  เป็นลำดับต่อไป
ครั้นรุ่งแจ้งภิกษุเหล่านั้นได้เตรียมตัวเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน  เที่ยวบิณฑบาตไปทั่วไม่ได้อาหารแม้แต่น้อย  ในขณะนั้น  มีหญิงคนหนึ่งชื่อนาคาเป็นทาสีค่าตัว  ๖๐ กหาปณะ  อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้นของตระกูลหนึ่งกำลังถือหม้อไปตักน้ำ  นางเห็นภิกษุเหล่านั้นเข้าไปนมัสการแล้วถามว่า  พระคุณเจ้าได้ภิกษาหารแล้วหรือ  ภิกษุทั้งหลายบอกกับนางว่า  ดูก่อน  อุบาสิกาเวลานี้ยังเป็นเวลาก่อนเพลนี่นา  นางทราบว่าภิกษุเหล่านั้นไม่ได้อะไรเลย จึงมีความคิดที่จะถวายทานแก่ภิกษุเหล่านั้น  คิดอยู่ว่าจะทำอย่างไรดี  แต่ก่อนเราอาศัยเงิน ๖๐ กหาปณะ  ทำการรับจ้างได้ค่าตัวในตระกูลอื่น  บัดนี้เราจะยอมเป็นทาสีแห่งตระกูลอื่นในเวลากลางคืน  เราจะถวายทานให้ได้ทีเดียว  จึงเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น  ได้วางหม้อน้ำไว้เฉพาะหน้าภิกษุเหล่านั้นแล้วพูดว่า  ข้าแต่พระคุณเจ้าหม้อน้ำนี้ควรค่า ๑ บาท  ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรออยู่ก่อน  ข้าพเจ้าจะกลับมา
นางรีบเข้าไปสู่ตระกูลนั้นนั่นเอง  แล้วพูดกับนายเจ้าของบ้านได้โปรดให้เงิน ๖๐ กหาปณะ  งวดอื่นแก่ข้าพเจ้าเถิด  เจ้าของเงินได้ยินนางพูดเช่นนั้น  ก็ตอบไปว่า  แม่นางเป็นทาสีของตระกูลอื่นมิใช่หรือ  เธอยังไม่เห็นความหลุดพ้นจากหนี้เก่าเลย  แล้วเธอจะเอาเงินเพิ่มขึ้นเพื่ออะไรกัน  นางตอบไปว่า  ข้าแต่นาย  โปรดอย่าคิดเรื่องนั้นเลย  ข้าพเจ้ายอมเป็นทาสีในเรือนท่านในเวลากลางคืนจะทำงานใช้หนี้ท่าน ได้โปรดให้เงินแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด  เจ้าของเงินก็ตกลงแล้วทำหนังสือสัญญากันแล้วให้เงินนางไป
นางรับเงินนั้นแล้วเที่ยวไปทั่วหมู่บ้านนั้นๆ  ได้ให้เงินตระกูลละหนึ่งกหาปณะเพื่อแลกกับอาหารใช้เงินไปจนหมด  เมื่อได้อาหารพร้อมแล้ว  จึงไปใส่บาตรกับภิกษุทั้งหลาย  เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้วจึงบอกถึงความพยายามของนางทั้งหมดจึงได้อาหารมา
ขอนมัสการเท้าของผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย  ขอพระคุณเจ้าโปรดฟังคำของข้าพเจ้า  บุคคลอื่นเช่นพระผู้เป็นเจ้านี้ในแผ่นดินย่อมไม่มีแก่ข้าพเจ้า  เพราะความเป็นคนกำพร้าอนาถา  ข้าพเจ้าทนเป็นทาสีกู้หนี้ไม่อาจใช้หนี้ได้  ข้าพเจ้าไม่มีที่อยู่  ไม่มีสมบัติ  ไม่มีญาติพี่น้อง อยู่ไปอย่างนั้น
วันนี้ข้าพเจ้าได้ถวายทานแล้ว  ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงบริโภคอาหารที่ข้าพเจ้าได้ถวายด้วยเถิด
นางพาภิกษุเข้าไปยังป่ามุจลินท์  ริมสระน้ำ  ในบรรดาภิกษุเหล่านี้พระเถระเรียกพระภิกษุทั้งหลายว่า  ดูก่อนท่านผู้มีอายุ  ขอท่านทั้งหลายจงชำระให้สะอาดซึ่งนาแห่งพืช  คือศรัทธาของหญิงคนนั้น  ผู้ยังมีราคะ จงอย่าบริโภคอาหารในเวลานี้  แล้วกล่าวต่อไปว่า
แน่ะ  ท่านผู้เจริญ  หญิงคนนั้นไม่ใช่มารดาของเราและไม่ใช่พี่หรือน้องของเรา  นางนั้นไม่ใช่แม่ยาย  ไม่ใช่ลูกสะใภ้  ไม่ใช่ญาติ  และไม่ใช่เพื่อนฝูง  นางเป็นคนอนาถา  ยากจนเข็ญใจ  ทำงานของผู้อื่น  คิดอย่างนี้ว่า  ภิกษุผู้มีความเพียรเหล่านี้เป็นผู้มีศีล  มีคุณ  มีพรตดี  ทานที่ถวายแก่ภิกษุเหล่านี้แม้มีจำนวนน้อย  พึงอำนวยผลเป็นอนันต์  นางขายตัวเป็นทาสเพื่อถวายทานแก่เราทั้งหลายในวันนี้
เราทั้งหลาย  พึงหวังผลอันยิ่งใหญ่ต้องชำระตัวให้บริสุทธิ์  เราไม่ฆ่าอาสวะทั้งหลายมีราคะแล้วไม่ต้องบริโภคอาหารนั้น 
ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว  ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น  นั่งแล้วในที่นั้นเจริญวิปัสสนา  บรรลุอรหันต์  พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา  ครั้งนั้นภิกษุเหล่านั้น  อันเทวดาทั้งหลายในป่านั้นแซ่ซ้องสาธุการ  เมื่อบริโภคอาหารแล้ว  เทวดาที่สิงสถิตอยู่ตามเศวตฉัตรของพระราชาทราบความเป็นไปของนางนั้นและของภิกษุทั้งหลาย  และได้ยินสาธุการของเทวดาทั้งหลายในป่านั้น  จึงให้สาธุการด้วยความยินดีว่า
สาธุ  สาธุ  ท่านผู้มีศรัทธามาก  สาธุ  สาธุ  ความดีท่านทำแล้ว  ทานได้ถึงเนื้อนาบุญแล้ว  วันนี้ท่านได้ลาภเป็นอย่างดี
พระราชาได้ยินเสียงสาธุการของเทวดา  ตรัสถามว่าแน่ะเทวดาท่านให้สาธุการแก่ทานของข้าพเจ้าหรือ  หรือว่าให้สาธุการแก่ทานของผู้อื่น  ลำดับนั้น  เทวดาตอบพระราชาว่า  สาธุการมิได้หมายถึงทานของพระองค์  แต่หมายถึงทานของนางนาคา  แล้วกล่าวว่า
ผู้ใดทำการบีบคั้นผู้อื่นด้วยการบั่นรอนและทำลายเป็นต้น  และยังทำบูชาใหญ่คือการถวายทาน  ให้เป็นไปทานของผู้นั้นไม่มีผลมาก
ผู้ใดไม่มีความนับถือเป็นเบื้องหน้าให้ทานในที่ใช่เนื้อนาบุญ  โดยไม่มีศรัทธา  ไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนทานของผู้นั้นไม่มีผลมาก
ผู้ใดแม้เป็นคนยากจนเข็ญใจ  แต่มีศรัทธามากประกอบด้วยความนับถือ  มีใจบริสุทธิ์  ให้ทานแม้เล็กน้อยทานของผู้นั้นย่อมให้ผลหาที่สุดมิได้
เทวดาพรรณนา  ความมีผลมากในทานโดยนัยนี้เป็นต้น  แล้วพูดว่า  ข้าแต่มหาราช  หญิงคนหนึ่งชื่อนาคาในนาคทวีปเป็นทาสีเงิน ๖๐ กหาปณะ  ได้ถวายทานอย่างนี้แก่ภิกษุทั้งหลายและภิกษุทั้งหลายอาศัยทานของนางจนบรรลุอรหันต์  ข้าพเจ้าชื่นชมยินดีต่อหญิงนั้นจึงให้สาธุการแล้วเล่าเรื่องราวทั้งหมดโดยพิสดาร
พระราชาทรงฟังเรื่องนั้นแล้ว  มีความโสมนัสตรัสเรียกเจ้าหนี้และนางนั้นมาแล้วทรงโปรดใช้หนี้ให้แก่นาง  ทำนางนั้นให้พ้นจากเป็นทาส  ทรงทำทวีปทั้งหมดนั้นให้เป็นรางวัลประทานแก่นางนั้น  ทรงประทานสมบัติเป็นอันมาก  ตั้งแต่นั้นมา  นัยว่า  ทวีปนั้นมีชื่อปรากฏว่า  นาคทวีป  แต่นั้นมานางทำบุญกรรมเป็นอันมาก  ในเวลาสิ้นชีวิตไปเกิดในเทวโลก  ดังนี้
ผู้มีใจประกอบด้วยปัญญาอย่างนี้  ทำตนให้เป็นทาสให้ทานแล้ว  ย่อมไปสวรรค์  และเป็นผู้ได้รับการสรรเสริญ
เพราะฉะนั้นท่านจงยินดียิ่งๆขึ้นไปต่อการให้ทานมีความปรารถนาประโยชน์เป็นเหตุ  ตัดกองตระหนี่เสีย  คบมิตรคือทานเถิด
ข้าพเจ้านำเรื่องของนางนาคมาเขียนและมีรายละเอียดมากหน่อยเพื่อต้องการให้ชาวพุทธได้เข้าใจการทำทานแม้น้อยนิดแต่ให้ผลมากได้อย่างไร  ภิกษุสมัยก่อนปฏิบัติเช่นไร  จึงทำให้ทานของนางนาคมีผลมาก  เรื่องลักษณะนี้ก็มีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน  นำมาให้อ่านเพียงเรื่องเดียว
ปัจจุบันคงจะเป็นไปได้ยากที่ทานจะให้ผลได้ขนาดนั้น  เพราะหาภิกษุที่อยู่ในธรรมวินัยได้น้อย  ยิ่งพระอริยะแล้วยิ่งหายากไปอีก  จะว่าแต่พระอรหันต์เลย  พระโสดาบันก็หาได้ยากแล้ว  ความจริงพระโสดาบันบ้านเราก็ยังมีอยู่นะ  พระโสดาบันที่เป็นฆราวาสก็มี  ของอย่างนี้รู้เฉพาะตน  ถ้ายังไม่มีโอกาสได้สนทนากับท่านก็ไม่อาจรู้ได้ง่ายๆ  พระโสดาบันบุคคลก็ใช้ชีวิตปรกติเหมือนปุถุชนทั่วไป  จะมีบ้างที่การพูดการกระทำจะต่างกันออกไป  คนทั่วไปจะมองไม่ค่อยออก  คนใกล้ชิดบางคนก็ยังมองไม่ออกก็มีมาก  ใครได้พบเจอและมีโอกาสได้สนทนาธรรมก็ถือว่ามีลาภอย่างยิ่ง
 
ฐานะ ๔ พึงรู้ด้วยฐานะ ๔ ดูกรภิกษุทั้งหลาย (๑)  ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกันนาน  ไม่ใช่เล็กน้อย  มนสิการจึงจะรู้  ไม่มนสิการอยู่หารู้ไม่  คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่  (๒) ความสะอาด  พึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ  (๓) กำลังใจพึงรู้ได้ในอันตราย ฯ  (๔) ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนาฯ (ฐานสูตร ๔-๓๕)
ส่วนการทำบุญกับพระสงฆ์ในปัจจุบันนี้ก็ดีอยู่แล้ว  ทำเสร็จครบองค์ ๓ บุญเกิดขึ้นทันทีไม่ต้องไปคิดมาก  การทำทานโดยการใส่บาตรก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้น  ต่อไปก็ต้องหมั่นรักษาศีลให้บริสุทธิ์  และฝึกการภาวนา  เป็นไปตามขั้นตอน
นมหกใส่บาตร
ย้อนกลับไปที่สิกขาบททั้ง ๒ อีกครั้ง  ปรกติเมื่อภิกษุบิณฑบาตต้องอยู่ในอาการสำรวมตาไม่สอดส่ายวอกแวกจะจงกรมไปด้วย  พุทโธ  ธัมโม  สังโฆ  หรืออะไรก็ได้ที่ถนัด  มองห่างจากปลายเท้าประมาณเมตรหนึ่ง  แต่ขณะที่เดินอยู่สัก๒-๓ เมตรก็ได้ มองใกล้ไปก็จะโดนรถชนเอาต้องระวังด้วย  แต่ขณะที่รับบาตรอยู่นั้นฆราวาสยืนอยู่  สายตาภิกษุก็จะอยู่ช่วงท้องของฆราวาสโดยประมาณ  ถ้าฆราวาสนั่งลงสายตาภิกษุก็จะเห็นฆราวาสนั่งยองๆ  ผู้หญิงแต่งตัวไม่มิดชิดสายเดี่ยว  เกาะอก  คอกระเช้า  บางคนก็ชุดคลุมยาวไม่ใส่ชั้นในก็มี  นั่งลงตรงหน้าพระเห็นหมดทั้งข้างบนข้างล่าง  ขาสั้นเอวต่ำ  นั่งลงไปก็เห็นร่องก้นหมด  คนข้างหลังเห็นหมด  พระบางท่านก็อยากจะชะเง้อไปดูข้างหลังบ้าง  กลับไปวัดต้องรีบต่อศีลปลงอาบัติกันยกใหญ่  แต่เมื่อภิกษุรับบิณฑบาต  จักแลดูแต่ในบาตร  คือให้สำรวมมองแต่ในบาตร
ขณะพระยืนอยู่  คนทั้งหลายนั่งใส่บาตร  บางคนใส่ไม่ค่อยถึงโยงโย้โยงหยกก็จะล้มใส่พระ บางทีก็จะไปดึงบาตรพระให้ตกลงมาอีก  บางทีใส่ไม่ถึงพระท่านก็จะลดบาตรลงต่ำให้ใส่สะดวก  พระบางท่านก็โน้มตัวลงไปรับอาหารการโน้มตัวของพระไม่สมควร  เหมือนอาการว่าพระได้แสดงความคารวะคือ  การเคารพต่อฆราวาสบาปกันยกใหญ่ อธิบายความหมายในเรื่องฝนรัตนะ

ฝนรัตนะ
ในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งพร้อมเหล่าภิกษุจำนวนมาก  ประชาชนทั้งหลายได้นิมนต์ให้มารับภัตตาหารในหมู่บ้านนั้น  มีชายยากจนผู้หนึ่งได้ยินข่าวการกุศลครั้งนี้  มีความศรัทธาต่อพระพุทธเจ้า  แต่ตัวเองเป็นคนจนคงไม่มีโอกาสได้ถวายทานต่อพระพุทธเจ้าเป็นแน่  ถึงกระนั้นถ้าได้ถวายทานกับพุทธสาวกก็ดี  ยังความปลาบปลื้มใจและรีบจัดเตรียมอาหารสำหรับถวายทาน
                ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรวจดูวาสนาบารมีของสัตว์ทั้งหลาย  ทรงเล็งเห็นด้วยจักษุฌาณว่า  ชายยากจนผู้นั้นเป็นผู้มีวาสนาบารมี  เมื่อพิจารณาแล้ว  พระพุทธองค์ก็มีดำริที่จะโปรดชายผู้นั้นในตอนเช้า
                ท้าวสักกะมีความล่วงรู้ในดำริของพระพุทธเจ้า  ในคืนนั้นก็ได้เหาะจากสวรรค์ลงมายังบ้านของชายผู้นั้น  และทำอาหารที่ชายผู้นั้นกระทำอยู่ให้เป็นอาหารทิพย์
พอเช้าได้เวลาบิณฑบาต  พระพุทธเจ้าก็เสด็จมายังบ้านของชายผู้นั้น  โดยไม่มีใครรู้เลย  เพราะตระกูลใหญ่ในหมู่บ้านก็ประสงค์จะให้พระพุทธเจ้าเสด็จมายังเรือนของตนทั้งนั้น
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงหน้าบ้านของชายผู้นั้นแล้ว  ยืนรออยู่สักครู่  ขณะนั้นอาหารที่ชายผู้นั้นเตรียมถวายทานก็เสร็จเรียบร้อย  ชายนั้นมองเห็นภิกษุยืนอยู่หน้าบ้าน  จึงรีบออกมาต้อนรับ
ด้วยพุทธลักษณะอันมีฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้า  ทำให้ชายผู้นั้นรู้ได้ทันทีว่าผู้ที่มาเรือนของตนนั้น  คือ  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ยังความปลาบปลื้มยินดีเป็นยิ่งนักแก่ชายผู้นั้น
เขาได้นมัสการพระพุทธเจ้าแล้ว  มีความคิดว่าจะจัดอาสนะตรงไหนจึงจะสมควร  เรือนของตัวเองก็เล็กคับแคบ  ประตูทางเข้าก็ต่ำ  จะนิมนต์ให้พระพุทธเจ้าเข้าไปในเรือนของตนก็ไม่บังควร  ทันใดนั้นเองแผ่นดินตรงหน้าประตูเรือนของชายผู้นั้นก็ทรุดต่ำลง
พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกให้ชายผู้นั้นนำทาง  แล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จเข้าไปยังเรือนนั้น  (โดยไม่ต้องเสด็จก้มพระเศียรเข้าไป ) ชายนั้นจัดการอาสนะและถวายอาหารอันเป็นทิพย์ที่ท้าวสักกะมาเนรมิตให้แล้ว  ตั้งความปรารถนาให้ถึงพร้อมความมีโภคทรัพย์มิได้ขาด
เมื่อเสร็จภัตกิจแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จราชดำเนินกลับ  ทันใดนั้นฝนรัตนะ  ได้ตกลงมาเต็มเรือนของชายผู้นั้น  เขาได้นำทรัพย์ส่วนหนึ่งไปถวายพระราชา แล้วนำทรัพย์ที่เหลือบริจาคทานตลอด  เขาถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลายจุติจากอัตภาพนั้นแล้วไปบังเกิดยังเทวโลก
ที่นำตัวอย่างและเรื่องต่างๆมาประกอบการเขียนครั้งนี้  เพื่อให้ชาวพุทธทั้งหลายได้ใช้ปัญญาพิจารณาให้มากตามเรื่องที่ผมเขียนเอาไว้
ความจริงเหตุที่ทำให้พุทธศาสนาอยู่ได้ไม่ตลอดก็เป็นเพราะพุทธบริษัททั้งนั้น  ภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  พุทธบริษัทโดยภิกษุทำผิดพระวินัยเป็นส่วนมาก  อุบาสกอุบาสิกาที่เข้าถึงพระรัตนตรัยมีน้อย
อย่างที่มีข่าวภิกษุ  อุบาสิกาและญาติธรรมเดินขบวนไปประท้วง  เรียกร้องไม่รู้ว่าพระจะไปเรียกร้องอะไร  พระวินัยก็ยังรักษาไม่ได้  ธรรมะก็ศึกษามาน้อย  ไม่เข้าใจหลักธรรมที่แท้จริง 
ภิกษุและผู้ปฏิบัติธรรมไม่ไปข้องแวะหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง  การปกครอง  ไปถามผู้ศึกษาพระอภิธรรมดู  รู้กันหมดทุกคน  เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็แสดงอาการโกรธ  เท่านั้นยังไม่พอยังกล่าววาจาสาปแช่ง  ท่านไม่รู้หรือไง  ถ้าสิ้นชีวิตในเวลานั้น  ท่านตกนรกทันทีเลยนะ  แล้วอย่างนี้จะไปสอนชาวบ้านได้อย่างไรกัน  มีแต่ชาวบ้านที่ไม่มีปัญญาจึงยังหลงเชื่ออยู่  ตัวเองยังไม่เข้มแข็ง  ยังไม่ศรัทธา  แล้วจะให้ผู้อื่นศรัทธาได้อย่างไร
ชาวพุทธในเวลานี้คล้ายกับผู้คนในแคว้นวัชชี    ที่ถูกวัสสการ  พราหมณ์มายุแหย่ให้แตกความสามัคคี ท้ายสุดก็ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพระเจ้าอชาตศัตรู  ผิดแต่ชาวพุทธในเวลานี้  ไม่เชื่อถือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ภิกษุก็ไม่เคารพพระวินัย  ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อพระธรรม
มหาศีลดูกรภิกษุทั้งหลาย  เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต  พึงกล่าวชมว่าพระสมณโคดมเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ  โดยทางผิด  ด้วยดิรัจฉานวิชาอย่างที่สมณพราหมณ์บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังทำอยู่คือ  (๑) ทายอวัยวะ  ทำนายฝัน   (๒) ทายลักษณะแก้วมณี  ลักษณะผ้า  (๓) ดูฤกษ์ยาม (๔) พยากรณ์เหตุการณ์  ดินฟ้าอากาศ  (๕) ดูโชคเคราะห์  (๖) ทำพลีกรรม  บนบาน  แก้บน  (๗) ปลุกเสกร่ายมนต์จับผี   ปรุงยา  (พรหมชาลสูตร ๑-๒๒๖) ในสามัญผลสูตร  จะกล่าวถึงมิจฉาอาชีวะ  โดยเนื้อความที่เหมือนกัน  เรื่องบางเรื่องก็มีอยู่ในหลายพระสูตร
การทำสังคายนาพระไตรปิฎก  ครั้งที่ ๒ และ ๓ ก็เกิดจากเงินเป็นลำดับ  ปัจจุบันก็มีพระภิกษุสะสมเงินกันมาก   บางทีชาวบ้านยังไปกู้ยืมพระยังมี  สะสมมากกิเลสก็มาก  ถ้าจะสร้างถาวรวัตถุก็เป็นเรื่องของชาวบ้านเขา  ไม่ใช่ส่วนของพระที่คิดจะสร้างเพื่อเป็นบุญ  พระปฏิบัติตามธรรมวินัยก็เป็นบุญแล้ว  ถ้าหากยังไม่บรรลุมรรคผล
ชำระหนี้สงฆ์
ไม่รู้ว่าพระรูปไหนวัดอะไรเริ่มหาเงินโดยกล่าวอ้างความศรัทธาที่ไม่รู้เรื่องของชาวบ้านตั้งตู้บริจาค  ทำบุญเพื่อชำระหนี้สงฆ์  ไม่รู้ว่าไปเป็นหนี้พระตั้งแต่เมื่อไหร่  พระบางรูปก็เทศน์ขณะชาวบ้านเดินเข้ามาในวัดและเดินออกไปทั้งดินและทรายติดรองเท้าไปนอกวัดเป็นบาป  ไม่รู้คิดได้อย่างไร  ทุกอย่างเป็นไปโดยธรรมชาติ  เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปอยู่แล้ว  ลมและฝนก็พัดพาดินของวัดปลิวไปไหนต่อไหนอยู่เป็นปรกติ  สิ่งของที่มีผู้คนมาทำบุญถวายเป็นของวัด  โดยเฉพาะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายไม่ใช่ของพระ  พระเพียงมาอาศัยเท่านั้น
เมื่อใส่เงินในตู้บริจาคชำระหนี้สงฆ์แล้ว  พระนำเงินไปทำอะไรบ้าง  ช่วยบอกหน่อยเถอะ  ถ้าว่าจะนำเงินไปสร้างนั่นทำนี่หรือใส่ย่ามพระเวลาฉุกเฉินก็นำไปใช้ก็เท่ากับหลอกลวงชาวบ้าน
พระทำผิดพระวินัยก็ยังมีการปลงอาบัติหรืออยู่กรรมแล้วแต่อาบัติร้ายแรงเท่าไหน  คณะสงฆ์เป็นผู้พิจารณาต้องอยู่ปริวาสกรรมกี่วัน  ตามระเบียบของสงฆ์นั่น  แล้วฆราวาสจะมีวิธีชำระหนี้สงฆ์อย่างไร  ถ้าทำต่อพระก็ไปขอขมากรรมต่อพระให้ท่านอโหสิกรรมให้  แต่ถ้าทำกรรมในอดีตชาติที่เราจำไม่ได้ว่าเราเคยพูดจาล่วงเกินพระสงฆ์ทั้งหลายหรือแม้แต่คิดอติไม่ดีต่อพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้าก็ดี ก็สมควรไปขอขมากรรมต่อพระประธานในโบสถ์ การขอขมากรรมไม่ได้ทำให้กรรมนั้นหมดไป แต่เป็นการยอมรับกรรมสำนึกผิด (ทางกฎหมายผู้รับผิดศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง)เพราะมีความเชื่อบาปบุญคุณโทษเชื่อเรื่องกรรม อันเป็นพื้นฐานของชาวพุทธ ที่เชื่อเรื่องของกรรม และจะไม่สร้างกรรมใหม่อีก เพราะกรรมเก่าเราแก้ไขอะไรไม่ได้
บาปที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของชาวบ้านที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์  เจตนาหรือไม่เจตนาก็ดี  จะมาลบล้างบาปด้วยวิธีอะไรกัน  ไม่มีหรอก  บุญส่วนบุญ  บาปส่วนบาป  ถ้ารู้ตัวว่าทำบาปไว้แล้ว  ต่อไปต้องแก้ไขอย่าให้เกิดขึ้นอีกและหมั่นทำแต่บุญมากๆ  บุญอะไรที่ไม่เคยทำก็ทำซะ  บุญที่เคยทำอยู่แล้วก็ทำให้ยิ่งๆขึ้นไป  บาปที่เคยทำก็ให้ละเสีย  ส่วนบาปอื่นที่ไม่เคยทำก็อย่าให้มีขึ้น
ยังมีเรื่องของธูปอีก  พระท่านจะบอกว่าหยิบธูปในวัดตามโบสถ์หรือวิหารมาใช้ก็เป็นหนี้พระแล้วต้องชำระหนี้สงฆ์  ต้องมาดูที่เจตนากัน  ธูปบางส่วนชาวบ้านนำมาเพื่อบูชาพระ  พอเหลือก็ไม่อยากเก็บกลับบ้าน  วางไว้เผื่อคนอื่นจะได้ใช้  เจตนาดีเป็นการทำทานอย่างหนึ่ง  เพื่อให้คนข้างหลังได้ใช้ธูปของตน  ส่วนพระที่ดูแลวิหารเห็นว่าธูปหมดก็นำธูปมาวางไว้เพื่อให้ชาวบ้านนำไปจุดบูชาพระ  เพราะคิดที่จะหาปัจจัยก็มีการตั้งโต๊ะจำหน่ายดอกไม้ธูปเทียนให้เรียบร้อย  อย่างทุกวันนี้จึงจะถูกต้อง
เข้าวัดแล้วเหยียบดินของวัดออกมา  ก่อนเข้าวัดก็เหยียบดินข้างนอกเข้าวัดเหมือนกัน  การนำดินออกจากวัดด้วยการเหยียบย่ำแล้วติดรองเท้าไป  ไม่ได้มีเจตนาที่จะขโมยเพราะไม่ได้นำดินส่วนที่ติดรองเท้าไปทำประโยชน์เพื่อให้ได้ปัจจัยมา  ไม่รู้พระท่านไปเอาเรื่องนี้มาจากตำราไหน  ถ้าเป็นเรื่องขโมยกลิ่นดอกไม้ยังมีอยู่  ที่เทวดามาเตือนฤๅษีไม่ให้ยินดีด้วยดอกไม้ของหอมที่จะยั่วให้เกิดกิเลสตัณหา  อย่างพระบางรูปซักจีวรยังใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มให้กลิ่นหอมติดทนนาน  ก่อกิเลสให้กับตนเอง
ความเปลี่ยนแปลงของวัตถุ อย่างโบสถ์วิหาร  ศาลาการเปรียญ  สิ่งของเครื่องใช้แม้กระทั่งดินของทางวัด ก็เป็นไปตามสภาพของมัน คือ ความไม่เที่ยง  ธรรมชาติเป็นผู้ทำลายให้เกิดการทรุดโทรมไปตามกาลเวลา  เช่นเดียวกับดินหรือทรายที่ผู้คนทั้งหลายได้เดินเหยียบย่ำแล้วติดรองเท้าออกจากวัด  ก็เป็นไปโดยธรรมชาติ  อย่างที่บอกเอาไว้แล้วว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะนำดินทรายที่ติดรองเท้าไปทำประโยชน์เพื่อได้ปัจจัยมา
พระสงฆ์หรือแม้แต่มรรคนายกที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนชาวบ้านทำบุญโดยการขนทรายเข้าวัดเพื่อนำไปซ่อมแซมบูรณะวัดต่อไปที่เรียกกันว่า  การก่อพระเจดีย์ทราย การกระทำเช่นนี้ย่อมได้บุญแน่นอน แต่ผู้ประชาสัมพันธ์ได้เชิญชวนการขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นการชดใช้หรือคืนดินทรายในส่วนที่ตนเองไปเหยียบติดรองเท้าออกนอกวัดไป  ไม่รู้จริงแล้วนำมาอ้าง ก็คือโกหกโดยการเข้าใจผิดเพื่อให้คนมาทำบุญความคิดอย่างนี้ย่อมมีอยู่ในวิสัยของปุถุชนเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: